เหตุใดพระเจ้าจึงยอมให้เกิดความทุกข์ยากขึ้นกับเรา

คำตอบของพระคัมภีร์ต่อความทุกข์ของมนุษย์

Why does God allow suffering?

                                                                                     

ความทุกข์เป็นปัญหาหนึ่งของชีวิตที่ติดตามเราทุกคนอยู่เสมอ เมื่อเห็นเด็กที่เกิดมาตาบอด พิการหรือปัญญาอ่อน ก็เกิดคำถามขึ้นว่า ทำไมถึงเป็นเช่นนั้น ในเมื่อเด็กคนนั้นไม่ได้ทำอะไรผิดแม้แต่น้อย

 

 ชายหญิงที่มีลักษณะท่าทางดี กำลังมีชีวิตที่สดใสสวยงาม กลับต้องมาทนทรมานกับความเจ็บปวดจากโรคร้ายที่ไม่มีทางรักษา ท้ายที่สุดต้องนอนรอความตายเพียงอย่างเดียว  เหตุใดต้องเป็นเขาหรือเธอ คนเหล่านี้คือคนที่ไม่ควรต้องมานั่งกังวลถึงเรื่องความตายเลยแม้แต่น้อย

 

คนนับล้านๆในโลกกำลังทนทุกข์กับความอดอยากและโรคภัยอยู่ในประเทศต่างๆที่มีประชากรหนาแน่นแต่กลับมีระดับความอุดมสมบูรณ์ต่ำ  อีกมากมายต้องเสียชีวิต ไม่ก็ไร้ที่อยู่อาศัยเพราะภัยจากน้ำท่วมและแผ่นดินไหว เหตุใดพวกเขาต้องมาพบเจอเรื่องร้ายเช่นนั้นด้วย

 

ความเจ็บปวด ความทุกข์ทรมานและความตายถูกยัดเยียดให้กับคนนับล้านๆที่ไร้ที่พึ่ง อันเนื่องมาจากการปกครองอันกดขี่ของมนุษย์ด้วยกันเองและการทำลายล้างอันเป็นผลพวงของสงครามสมัยใหม่ ชีวิตนับไม่ถ้วนต้องสูญสิ้นไปในพริบตาโดยฝีมือของผู้ก่อการร้าย บางคนต้องรับทุกข์ทรมานจากการกระทำอันโหดเหี้ยมและการจี้เครื่องบินของสลัดอากาศ อีกทั้งอุบัติเหตุก็ยังคงเกิดขึ้นอยู่เสมอ ในขณะที่ระดับของหายนะและภัยพิบัติทางธรรมชาติมักจะทวีความรุนแรงมากขึ้นเรื่อยๆ เช่น เครื่องบินโดยสารพาณิชย์ตก  ท่อส่งน้ำมันรั่ว ไฟไหม้รถไฟใต้ดินทำให้มีคนติดอยู่นับร้อย ผู้คนต่างถามกันว่า พระเจ้าทรงยอมให้เรื่องเหล่านี้เกิดขึ้นได้อย่างไร

 

คำถามหลายประการที่เกิดขึ้นฟังดูสมเหตุสมผลดี แต่เมื่อมาพิจารณาคำถามเหล่านี้อย่างตรงไปตรงมาโดยปราศจากอคติแล้ว เราจะพบความนัยบางอย่างแฝงอยู่ คำถามเหล่านี้แสดงให้เห็นว่าความทุกข์ในชีวิตมนุษย์นั้นไม่เกี่ยวข้องกับเรื่องอำนาจหรือความรักของพระเจ้าแต่อย่างใด กล่าวคือ ไม่ได้หมายความว่าพระองค์เป็นพระเจ้าแห่งความรักแล้ว แต่กลับไม่มีอำนาจที่จะห้ามปรามเรื่องร้ายต่างๆได้  และไม่ได้แปลว่าพระองค์ทรงมีอำนาจที่จะทำได้แต่ไม่ทรงประสงค์จะช่วยเรา พระองค์จึงไม่ใช่พระเจ้าแห่งความรัก  ดูเหมือนผู้คนจะสรุปเอาว่าเป็นหน้าที่ของพระเจ้าแห่งความรักซึ่งก็เป็นพระเจ้าจอมโยธาด้วย ที่จะต้องปกป้องคุ้มครองเหล่าผู้ที่ไร้ความผิดให้พ้นจากความทุกข์ทั้งหลายที่จะส่งผลกระทบต่อชีวิตของพวกเขา ข้อสรุปเช่นนี้ถูกต้องเป็นจริงหรือ

 

สัจธรรมแห่งชีวิต

ก่อนที่เราจะลงความเห็นใดๆ เราจำเป็นต้องพิจารณาความเป็นจริงบางประการเกี่ยวกับชีวิตเสียก่อน

1. มนุษย์เราอาศัยอยู่ในจักรวาลแห่งเหตุและผล และผลลัพธ์ของเหตุบางประการก็ไม่ใช่สิ่งที่หลีกเลี่ยงได้ เช่น เพลิงก็เผาผลาญสิ่งที่อยู่ต่อหน้ามัน น้ำก็ดูดกลืนชีวิต เชื้อโรคร้ายก็ทำลายชีวิต ความจริงเหล่านี้ล้วนสอนใจเราทั้งสิ้น มนุษย์เราอยู่ในจักรวาลที่ซึ่งผลของการกระทำที่พวกเขาก่อไว้เป็นสิ่งที่พวกเขาเองไม่อาจหลบเลี่ยงได้  ฉะนั้นความรับผิดชอบต่อสิ่งที่พวกเขาก่อขึ้นจึงเป็นสิ่งที่ไม่อาจเลี่ยงได้เช่นกัน หากไม่มีสิ่งที่คอยถ่วงดุลอย่างเช่น กฏเกณฑ์ธรรมชาติ นี้ มนุษย์คงกระทำตามอำเภอใจได้โดยไม่ถูกลงโทษและไม่ต้องมีความรับผิดชอบใดๆ พระเจ้าทรงสร้างจักรวาลให้เป็นเช่นนี้เพราะพระองค์ทรงเป็นพระเจ้าแห่งความรู้สึกผิดชอบผู้สร้างมนุษย์ให้เป็นสิ่งสร้างที่มีความรับผิดชอบ ประกอบด้วยเสรีภาพในการเลือกว่าจะทำอย่างไรดีกับสิ่งต่างๆรอบๆตัว

 

2.  การที่มนุษย์ปล่อยชีวิตให้ตกต่ำและใช้ชีวิตไปในทางที่ผิดก่อให้เกิดผลกระทบต่อวิถีแห่งชีวิตของพวกเขาเอง และยังสร้างความลำบากให้กับคนรุ่นหลังแบบเลี่ยงไม่ได้ สิ่งเหล่านี้ ซึ่งเป็นไปตามกฏของธรรมชาติได้สำแดงตัวเองออกมาเป็นความอ่อนแอต่างๆที่ถ่ายทอดทางพันธุกรรม รวมถึงความเสี่ยงที่จะได้รับโรคต่างๆมา ชีวิตต่างๆล้วนต้องแบกรับความอ่อนแอที่ถูกส่งต่อมาจากรุ่นต่อรุ่นอย่างเลี่ยงไม่ได้

 

3. ผลแห่งการกระทำของมนุษย์ไม่ใช่มีเพียงผลที่เป็นวัตถุเท่านั้น ความชั่วร้ายทางสังคมและทางการเมืองที่มนุษย์ได้ก่อขึ้นในประวัติศาสตร์ได้ทิ้งภาระผูกพันไว้ให้แก่ชนรุ่นหลังด้วย คนรุ่นปัจจุบันต่างก็ตกอยู่ในบ่วงแร้วแห่งผลของการกระทำในอดีต และแม้ว่าพวกเขาจะพยายามแก้ไขความชั่วร้ายอย่างหนึ่ง แต่กลับกลายเป็นว่ามีความชั่วร้ายอีกอย่างมาให้พวกเขาต้องแบกรับแทน เรารู้อยู่ว่าบรรดาสรรพสิ่งที่ทรงสร้างนั้นกำลังคร่ำครวญและผจญความทุกข์ยากด้วยกันมาจนทุกวันนี้ (โรม 8:22)

 

 ควรหรือที่มนุษย์จะได้รับการช่วยเหลือให้พ้นจากผลแห่งการกระทำของเขาเอง

เมื่อลองเอาความจริงเหล่านี้มาพิจารณาดู ก็ต้องถามว่า เรากำลังทำอะไรกันอยู่เมื่อเราเรียกร้องให้พระเจ้าขจัดความทุกข์ออกไปจากชีวิตเรา  นี่เรากำลังขอให้พระเจ้า  1. ยกเว้นเราจากกฏธรรมชาติ หรือ 2.  เปลี่ยนแปลงผลแห่งพันธุกรรม   หรือ 3.  มองข้ามผลของความโหดร้ายที่มนุษย์เรากระทำต่อกันหรือไร เรามีสิทธิเช่นนั้นหรือที่จะคาดหวังว่าพระเจ้าจะทรงช่วยมนุษย์จากผลแห่งการกระทำของตัวเขาเอง จักรวาลนี้จะเป็นสถานที่แห่งศีลธธรรมได้หรือถ้าพระองค์กระทำเช่นนั้น

คำถามเหล่านี้อาจเหมาะสมที่จะถามหากอยู่ในสถานการณ์ที่น้ำมือของมนุษย์มีส่วนเกี่ยวข้องด้วย  แผ่นดินไหว พายุ ความอดอยากและอุทกภัย ล้วนแล้วแต่ถูกขนานนามว่าเป็น ฝีพระหัตถ์ของพระเจ้า เพราะปกติแล้วเราไม่อาจ อธิบายสาเหตุที่ต้องเกิดสิ่งเหล่านี้ได้ ดังนั้นหากเรามองลึกลงไปจากการกระทำของมนุษย์สู่เรื่องของภัยพิบัติทางธรรมชาติ เราจะเห็นได้ว่าสิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นกับทุกคน ทั้งผู้บริสุทธิ์และผู้ร้ายไม่ต่างกัน ทันทีที่เราเริ่มตั้งคำถามถึงความทุกข์ที่บรรดาเหยื่อผู้บริสุทธิ์ต้องพบเจอในเหตุการณ์ภัยพิบัติเหล่านั้นก็นำไปสู่ข้อข้องใจประการใหม่ นี่เราคิดว่าภัยพิบัติดังกล่าวน่าจะเกิดเฉพาะกับคนบางกลุ่มที่สมควรจะรับเคราะห์เช่นนั้นหรือ   

 

เป็นความชั่วร้ายหรืออาการของโรคกันแน่

มีสมมติฐานที่สำคัญแฝงอยู่ในแนวคิดต่างๆเกี่ยวกับเรื่องนี้ตามที่เคยสำรวจมา  นั่นคือ การทนทุกข์เป็นสิ่งชั่วร้ายในตัวของมันเอง เป็นความเชื่อนี้เองที่สอนว่าการที่ต้องทนทุกข์เป็นส่วนสำคัญของบาปกรรมชั่วที่คนเราเคยทำไว้ เป็นความเชื่อพื้นฐานของพุทธศาสนา แต่มุมมองของพระคัมภีร์กลับคิดเห็นต่างไปตั้งแต่ในเรื่องความเชื่อพื้นฐาน กล่าวคือ การทนทุกข์มิใช่บาปกรรมในตัวมันเอง แต่เป็นอาการที่ส่อถึงสิ่งชั่วร้ายที่อยู่ลึกลงไปอีก พระคัมภีร์ให้ภาพการทนทุกข์ว่าเป็นผลของความบาป ไม่จำเป็นว่าจะต้องเป็นบาปที่เจ้าตัวก่อไว้แล้วมารับทุกข์ทรมานในภายหลัง แต่อาจเป็นความบาปชั่วที่เกิดขึ้นในประวัติศาสตร์ของมนุษยชาติและความบาปที่เกิดขึ้นในสังคมมนุษย์ ที่มาของมันได้รับการกล่าวถึงโดยอัครสาวกเปาโลว่าเป็นดังนี้  

 

เหตุฉะนั้นเช่นเดียวกับที่บาปได้เข้ามาในโลกเพราะคนๆเดียวและความตายก็เกิดมาเพราะบาปนั้นและความตายก็ได้แผ่ไปถึงมวลมนุษย์ทุกคนเพราะมนุษย์ทุกคนทำบาป(โรม 5:12)

 

คำตัดสินโทษที่พระเจ้าทรงประทานแก่หญิงนั้นหลังจากที่นางไม่เชื่อฟังพระองค์ในสวนเอเดน คือ

เราจะเพิ่มความทุกข์ลำบากขึ้นมากมายในเมื่อเจ้ามีครรภ์และคลอดบุตร ถึงกระนั้นเจ้ายังปรารถนาสามีและเขาจะปกครองตัวเจ้า

 

และพระเจ้าตรัสแก่ชายนั้นว่า

เจ้าจะต้องหากินด้วยเหงื่ออาบหน้าจนเจ้ากลับเป็นดินไปเพราะเราสร้างเจ้ามาจากดินเจ้าเป็นผงคลีดินและจะต้องกลับเป็นผงคลีดินดังเดิม (ปฐมกาล 3:16-19)

 

คำสอนนั้นช่างเรียบง่าย เพราะการไม่เชื่อฟังของมนุษย์ สิ่งสร้างของพระเจ้าจึงต้องพรากจากองค์พระผู้สร้างของพวกเขา  ความสัมพันธ์ระหว่างพระเจ้ากับมนุษย์จึงขาดจากกัน ความบาปแรกทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงที่สำคัญซึ่งส่งผลต่อทุกชีวิตโดยอาศัยการทำบาปซึ่งมนุษย์คุ้นเคยดีเป็นเครื่องมือ ความตายจึงเกิดขึ้นกับคนทั้งโลก พระเจ้าไม่ได้ทรงแก้ไขสิ่งนี้เพื่อผู้หนึ่งผู้ใด พระคัมภีร์สอนว่ามนุษย์ถูกปล่อยให้กระทำตามหนทางที่เขาเห็นควรและให้เป็นไปตามกฏธรรมชาติ แม้จะมีบางครั้งที่พระเจ้าบันดาลให้เกิดมหันตภัยแก่มนุษย์เพื่อเป็นการลงโทษพวกเขาและชำระล้างผืนโลกให้สะอาด ตัวอย่างที่สำคัญคือน้ำท่วมโลกในสมัยของโนอาห์

 

ในขณะเดียวกัน ความจริงอีกประการที่ปรากฏในพระคัมภีร์ก็คือ สำหรับผู้ที่อุทิศชีวิตรับใช้พระเจ้า การทนทุกข์กลับมีความหมายใหม่ นั่นคือ พวกเขากลับมามีความสัมพันธ์ใหม่กลับพระผู้สร้างของพวกเขา และเรียนรู้ที่จะ มองโศกนาฏกรรมด้วยมุมมองใหม่ๆ แล้วมันเป็นอย่างไรนะหรือ

 

ประสบการณ์ของผู้ที่รักพระเจ้าคนหนึ่ง

คำตอบของคำถามข้างต้นปรากฏชัดในชีวิตของโยบเพราะเขาเป็นผู้ที่อุทิศตนเพื่อพระเจ้าแต่กลับต้องมาพบเจอกับภัยพิบัติที่ทำให้เขาต้องสูญเสียฝูงสัตว์มากมายอันเป็นแหล่งของความมั่งคั่งของเขาไป เขาสูญเสียบุตรชายหญิงทั้งหมดไปพร้อมกัน และซ้ำร้ายต้องมาทนทุกข์กับโรคร้ายที่สร้างความทรมานให้เขาอย่างมาก เหตุการณ์เหล่านี้ทำให้เขาต้องแยกตัวออกจากสังคม แต่กระนั้น เขากลับกล่าวว่า แต่ท่านตอบนางว่า “เราจะรับสิ่งดีจากพระหัตถ์ของพระเจ้า และจะไม่รับของไม่ดีบ้างหรือ (โยบ 2:10) เขาระลึกได้ถึงหลักสำคัญที่ว่าเขาไม่มีสิทธิหวังแต่สิ่งที่ดีจากพระเจ้าเพียงอย่างเดียว เพราะไม่ใช่หน้าที่ของเขาที่จะมาตัดสินว่าพระเจ้าจะต้องทรงทำสิ่งใดบ้าง

 

ปัญหาที่สร้างความเจ็บปวด

แล้วเวลานั้นก็มาถึง เมื่อความทุกข์นั้นสาหัสจนเกินจะทานทนไหว ความตายกลับกลายเป็นสิ่งหอมหวาน ด้วยความเจ็บปวดและสับสน เขาถามว่า จะมีชีวิตอยู่ไปทำไมหากจะต้องอยู่เพียงเพื่อทนทุกข์ พระเจ้าผู้ทรงสร้างเขาขึ้นมาสามารถทำลายเขาลงเสียเหมือนอย่างของเล่นที่เราโยนทิ้งมิได้หรือ

 

บรรดามิตรสหายของโยบต่างให้เหตุผลว่าจะต้องมีความเกี่ยวข้องกันโดยตรงระหว่างความบาปของคนเรากับการที่คนเราต้องมาทนทุกข์อย่างแน่นอน ดังนั้นพวกเขาจึงสรุปว่าโยบต้องทำบาปที่ร้ายแรงเป็นแน่จึงต้องประสบกับเรื่องร้ายมากมายกายกองถึงเพียงนี้  โยบมั่นใจในความซื่อสัตย์ของตัวเขาเอง แม้เขาจะเป็นเพียงมนุษย์คนหนึ่ง แต่เขาก็รู้ดีว่าตัวเขาไม่ผิดตามที่มิตรสหายพยายามจะโยงเขาเข้าไปผูกกับเรื่องความบาปร้ายแรงนั้น เขาไม่จำเป็นต้องมาเจอกับปรัชญาจากบรรดามิตรสหายเยี่ยงนี้อีกเพื่อที่จะรู้สึกทนทุกข์ทรมานเพราะความไม่เป็นธรรมมากขึ้นไปกว่านี้ พระเจ้าได้ทรงเลือกเขามาเป็นเป้าไว้ซ้อมยิงหรือไรกัน เพราะเมื่อเทียบกับคนอื่นๆแล้ว ความทุกข์ของเขาดูช่างไม่ได้สัดส่วนกับความผิดใดๆที่เขาได้ทำ สำหรับเขาแล้ว ความทุกข์ของเขามีความหมายเพียงว่าพระเจ้าทรงเป็นศัตรูกับเขาเสียแล้ว และปัญหาเรื่องความดีความชั่วนี้ยิ่งทำให้เขาขมขื่นมากขึ้นไปอีก เต็นท์ของโจรก็อยู่อย่างสงบสุข เหตุใดผู้ชอบธรรมกลับต้องทนทุกข์ หากพระเจ้าจะตัดสินเขา ถูกหรือที่จะใช้มาตรฐานที่มนุษย์เองยังไม่อาจทำได้มาตัดสินเขา

 

เหล่ามิตรสหายไม่อาจทำให้ความชอบธรรมของโยบสั่นคลอนได้ และท้ายที่สุดพวกเขาก็ยุติการถกเถียงนั้นลง จากการถกเถียงนั้นเราจะเห็นสิ่งที่อยู่ในใจโยบลึกๆ นั่นคือ ความเชื่อในพระเจ้า ทั้งๆที่ถูกเพื่อนรุมถามด้วยคำถามที่ท้าทายความเชื่อของเขา แต่ด้วยความเชื่อในพระยุติธรรมของพระเจ้า โยบจึงมีความหวังว่าในอีกชีวิตหนึ่ง หากมิใช่ขณะนี้ พระเจ้าในฐานะพระผู้ไถ่จะทรงแก้ต่างให้เขาและอยู่ฝ่ายเขา  ดังนั้นเขาจึงได้พาเราไปพบกับองค์ประกอบใหม่ในการอภิปรายเมื่อเขามองข้ามความตายไปยังการเป็นขึ้นมาจากความตายและการกลับคืนดีกับพระเจ้า ความเชื่อนั้นซึ่งเผยเป็นนัยผ่านชีวิตของโยบได้รับการเปิดเผยอย่างชัดแจ้งยิ่งขึ้นในข้อพระธรรมตอนอื่นๆทั้งในภาคพันธสัญญาเดิมและภาคพันธสัญญาใหม่ ก่อให้เกิดมุมมองใหม่ๆแก่ปัญหานี้ แต่กระนั้นมันก็ไม่ได้อธิบายว่าเหตุใดทั้งชายและหญิงต้องพบเจอกับความทุกข์ในชีวิตด้วย

 

พระเจ้ากำลังตรัสกับมนุษย์

เมื่อบรรดาสหายของโยบนิ่งเงียบไปและโยบได้กล่าวคำพูดสุดท้ายของเขาแล้ว ชายหนุ่มที่ชื่อ เอลีฮู ก็มาร่วมวงสนทนาด้วย เขาประกาศว่าโยบทนถึงที่สุดแล้วและได้แสดงความสงสัยต่อความชอบธรรมของพระเจ้า แต่เขาก็ได้ไขความสว่างให้แก่ปัญหานี้ด้วยเช่นกัน นั่นคือ พระเจ้าตรัสกับมนุษย์ผ่าน 1. การเผยแสดง  และ 2. การทนทุกข์   พระเจ้ากำลังสื่อสารกับมนุษย์ด้วยวิธีของพระองค์เองและกำลังดึงพวกเขาเข้ามาหาพระองค์  (อ่านโยบ 33:14-18)

 

เอลีฮูกล่าวว่า พระเจ้าตรัสกับมนุษย์ เพื่อการเติบโตทางจิตวิญญาณของพวกเขา เป็นเครื่องชี้นำชีวิตและเป็นเครื่องมือปกป้องพวกเขาจากการถูกทำลาย พระองค์ ทรงไถ่ถอนพวกเขาจากความปรารถนาของตัวเขาและทรงซ่อนทิฐิเสีย จากตัวเขา ทรงนำเขาออกห่างจากหนทางชีวิตที่เอาตัวเองเป็นใหญ่ เพราะทิฐิ (pride) เป็นแหล่งกำเนิดของความบาป และเอลีฮูยังกล่าวถึงวิธีอื่นๆที่พระเจ้าใช้ติดต่อสื่อสารด้วยว่า

 

มนุษย์ยังถูกตีสอนด้วยความเจ็บปวดบนที่นอนของเขาด้วย และด้วยการขัดแย้งเสมอในกระดูกของเขา

ชีวิตของเขาจึงได้เบื่ออาหาร  และจิตใจจึงได้เบื่ออาหารโอชะ เนื้อของเขาทรุดโทรมไปมากจนมองไม่เห็น  กระดูกของเขาซึ่งแลไม่เห็นนั้นก็โผล่ออกมา เออ วิญญาณของเขาเข้าไปใกล้ปากแดนคนตาย  และชีวิตของเขา  เข้าใกล้ผู้ที่นำความตายมา(โยบ 33:19-22)

 

ความหมายของการทนทุกข์เข้ากับชีวิตของโยบได้พอดี และเอลีฮูมองว่า แม้ว่าเขาควรถูกตำหนิ และลงโทษโดยพระเจ้า แต่ต้องไม่ใช่ผลของสิ่งที่บรรดาเพื่อนๆของเขากล่าวหาเขาไว้ซึ่งเอลีฮูมิได้กล่าวถึง ถ้าจะมีเหตุผลของการลงโทษควรจะเป็นความผิดที่เบากว่านั้น เอลีฮูได้บอกใบ้ให้เราแล้ว เพราะนั่นคือบาปแห่งความทรนงในทางจิตวิญญาณ และมีแต่ประสบการณ์แห่งการทนทรมานเท่านั้นที่จะปลดปล่อยเขาจากความทรนงนั้นได้

 

พระเจ้ากำลังทรงงานร่วมกันกับมนุษย์

ดังนั้นการทนทุกข์จึงอาจเป็นส่วนหนึ่งของวิถีทางแห่งการทรงงานของพระเจ้าร่วมกับมนุษย์ก็เป็นได้ เพื่อให้เกิดการพัฒนาในมนุษย์และให้พวกเขารู้จักพระองค์มากขึ้น  ซึ่งผลก็คือโยบรูจักพระเจ้าในมุมมองใหม่และสนิทสนมกับพระองค์มากขึ้น เขาพูดได้เต็มปากว่า

 

ข้าพระองค์เคยได้ยินถึงพระองค์ด้วยหู แต่บัดนี้ตาของข้าพระองค์เห็นพระองค์

 ฉะนั้นข้าพระองค์จึงเกลียดตนเอง และกลับใจอยู่ในผงคลีและขี้เถ้า (โยบ 42:5-6)

 

การกระทำงานของพระเจ้าร่วมกับมนุษย์เช่นนี้ถือว่าเป็นเรื่องเฉพาะรายบุคคล มีแต่คนที่ทนทุกข์เท่านั้นจึงสามารถเข้าถึงประสบการณ์ส่วนตัวเช่นนี้ได้ อย่างไรก็ตาม ยังมีปัญหาสำคัญเกี่ยวกับการทนทุกข์อยู่อีก หนังสือโยบบอกเราแต่พียงว่ามนุษย์ไม่อาจตั้งข้อสงสัยความยิ่งใหญ่และพระปัญญาของพระเจ้าได้ พระองค์เป็นพระผู้สร้างและพระผู้เลี้ยงดูทุกชีวิต การงานของพระองค์ก็ลึกล้ำเกินกว่าความเข้าใจของมนุษย์ คำตอบนี้แหละคือความหมายที่เราได้เห็นจากกำลังแรงและความงดงามของพายุหมุนในบทที่ 38-41 มนุษย์ทำได้เพียงแค่ยอมรับว่าวิถีของพระเจ้านั้นเป็นสิ่งที่ไม่อาจตัดสินได้ด้วยความเข้าใจอันจำกัดของเขา

 

แล้วโยบรับใช้พระเจ้าโดยเปล่าประโยชน์งั้นหรือ

หนังสือโยบไม่ได้ให้คำตอบเรื่องการทนทุกข์ แต่มีการศึกษาเรื่องนี้ในระดับที่กว้างกว่า มีแต่การสูญเสียและการทนทุกข์เท่านั้นที่ทำให้โยบรู้ว่าเขาไม่ได้รับใช้พระเจ้าเพราะเห็นแก่บ้านเรือน ที่นากว้างขวาง ฝูงสัตว์หรือบุตรทั้งหลายของเขา เขามิได้รับใช้พระเจ้าเพราะเห็นแก่สุขภาพของเขาเอง เขานมัสการพระเจ้าเพราะพระองค์เป็นพระเจ้า แม้ว่าเขาจะกล่าวว่าพระเจ้าเพราะจิตใจและร่างกายที่เคร่งเครียด เขาก็ยังมีความเชื่อในพระเจ้าอย่างเข้มแข็งว่าพระองค์ทรงชอบธรรมและสัตย์ซื่อ ทันทีที่เขาหมดสิ้นทุกอย่างเขาจึงรู้ว่าพระเจ้าทรงเป็นที่พึ่งของเขาและเพราะรู้เช่นนั้น เขาจึงสามารถแก้ต่างได้อย่างใสสะอาดต่อคำที่มารกล่าวร้ายพระเจ้า ซึ่งเราได้เห็นตัวอย่างผ่านเพื่อนทั้งสามของเขา

 

ความเชื่อในพระเจ้าของโยบถูกทดสอบผ่านความยากลำบาก และเพราะความยากลำบากความเชื่อจึงถูกหลอมให้กล้าแข็งดั่งเหล็กกล้า และเพราะการที่เขายอมรับความล้ำเลิศของพระปัญญาของพระเจ้าในตอนท้ายและเรียนรู้ว่าความเชื่อสามารถพัฒนาได้โดยอาศัยการทนทุกข์ เขาจึงได้รู้จักพระเจ้ามากยิ่งขึ้นในที่สุด

 

ข้อสรุปบางประการ  

ข้อสรุปที่ได้จากการพิจารณาเรื่องข้างต้น พอจะแบ่งเป็นประเด็นได้ดังนี้

1.     มนุษย์มีชีวิตอยู่ในโลกที่ดำเนินไปบนเงื่อนของเหตุและผลอย่างเป็นระบบระเบียบ ซึ่งต้องรับผลของการกระทำอย่างเลี่ยงไม่ได้  และเพราะมีความบาปเข้ามาในชีวิตมนุษย์ด้วย จึงทำให้ต้องเกี่ยวข้องกับการทนทุกข์ด้วย อย่างไรก็ตาม การทนทุกข์ดังกล่าวอาจไม่ได้เกี่ยวข้องกับความบาปโดยตรงของผู้ที่ต้องทนทุกข์แต่อาจเป็นผลแห่งการกระทำของคนรุ่นก่อน

 

2.     ในขณะเดียวกัน สถานที่แห่งนี้ก็เป็นโลกของพระเจ้าผู้ทรงพระปัญญาและความรัก ผู้ซึ่งสามารถนำทางและควบคุมความทุกข์ทรมานของผู้ที่ร้องหาพระองค์ เพื่อที่จะดึงพวกเขามารู้จักพระองค์มากขึ้น

 

การฝึกตนอันศักดิ์สิทธิ์

หากเราพิจารณาข้อสรุปประการท้ายนี้เราจะเข้าใจเนื้อหาพระธรรมฮีบรู ซึ่งมีที่มาจากคำกล่าวในหนังสือพระธรรมสุภาษิต

 

และท่านได้ลืมคำเตือนที่พระองค์ได้ทรงเตือนในฐานะที่เป็นบุตรว่า บุตรชายของเราเอ๋ย อย่าละเลยต่อการตีสอนขององค์พระผู้เป็นเจ้าและอย่าท้อถอยในเมื่อพระองค์ทรงตีสอนนั้น เพราะองค์พระผู้เป็นเจ้าทรงตีสอนผู้ที่พระองค์ทรงรักและเมื่อพระองค์ทรงรับผู้ใดเป็นบุตร พระองค์ก็ทรงตีสอนผู้นั้น ท่านทั้งหลายจงรับและทนเอาเถอะเพราะเป็นการตีสอน พระเจ้าทรงปฏิบัติต่อท่านในฐานะที่ท่านเป็นบุตรของพระองค์ด้วยว่ามีบุตรคนใดเล่าที่บิดาไม่ได้ตีสอนเขาบ้าง แต่ถ้าท่านทั้งหลายไม่ได้ถูกตีสอนเช่นเดียวกับคนอื่นๆท่านก็ไม่ได้เป็นบุตรแต่เป็นลูกที่ไม่มีพ่อ อีกประการหนึ่งเราทั้งหลายมีบิดาเป็นมนุษย์ที่ได้ตีสอนเราและเราก็นับถือบิดานั้น ยิ่งกว่านั้นอีกเราควรจะอยู่ใต้บังคับของพระบิดาแห่งวิญญาณจิตและมีชีวิตจำเริญมิใช่หรือ เพราะบิดาที่เป็นมนุษย์ตีสอนเราเพียงชั่วเวลาเล็กน้อยตามความเห็นดีเห็นชอบของเขาเท่านั้น แต่พระองค์ได้ทรงตีสอนเราเพื่อประโยชน์ของเราเพื่อให้เราได้เข้าส่วนในวิสุทธิภาพของพระองค์ เมื่อมีการตีสอนนั้นดูไม่เป็นที่ชื่นใจเลย เป็นเรื่องเศร้าใจ แต่ต่อมาภายหลังก็จะก่อให้เกิดความสุขสำราญแก่บรรดาคนที่ต้องทนอยู่นั้น คือความชอบธรรมนั้นเอง เพราะเหตุนั้นจงยกมือที่อ่อนแรงขึ้นและจงให้หัวเข่าที่อ่อนล้ามีกำลังขึ้น (ฮีบรู 12:5-12, สุภาษิต 3: 11-12)

 

ลองอ่านเนื้อความในบทนี้ดู โดยเนื้อหาของมันก็ปรากฏชัดเจนอยู่แล้ว การทนทุกข์และการสูญเสียเป็นเรื่องปกติที่มนุษย์ต้องพบเจอ แต่สำหรับบุตรทั้งหลายของพระเจ้า นี่เป็นสิ่งที่พระเจ้าพระบิดากำหนดไว้ให้เกิดมีเพื่อเป็นการฝึกฝนฝ่ายจิตวิญญาณ ซึ่งถือเป็นวิถีแห่งการสำแดงความรักของพระองค์

 

แล้วพระเจ้าทรงทนทุกข์ด้วยหรือเปล่า

ให้เรามาพิจารณาความเข้าใจอีกขั้นหนึ่งเกี่ยวกับการทนทุกข์ นั่นก็คือ พระเจ้าเองก็มีความเกี่ยวข้องกับการทนทุกข์ของมนุษย์ เพราะพระองค์ทรงรักมนุษย์มากจนกระทั่งยอมให้พระบุตรองค์เดียวของพระองค์มาตายแทนพวกเขาและต้องมารับทุกข์ทรมานด้วย พระเยซูทรงปราศจากความผิดใดๆ มิได้แปดเปื้อนโดยความบาปใดๆเลย แต่พระองค์ก็ทรงยอมสละพระชนม์ชีพของพระองค์เอง ยอมทนทุกข์กับความอธรรมและความโหดร้ายเพื่อเหล่ามิตรสหายของพระองค์

 

โมเสสได้ยกงูขึ้นในถิ่นทุรกันดารฉันใดบุตรมนุษย์จะต้องถูกยกขึ้นฉันนั้น เพื่อทุกคนที่วางใจในพระองค์จะได้ชีวิตนิรันดร์ เพราะว่าพระเจ้าทรงรักโลกจนได้ทรงประทานพระบุตรองค์เดียวของพระองค์เพื่อทุกคนที่วางใจในพระบุตรนั้นจะไม่พินาศแต่มีชีวิตนิรันดร์ เพราะว่าพระเจ้าทรงให้พระบุตรเข้ามาในโลกมิใช่เพื่อพิพากษาลงโทษโลกแต่เพื่อช่วยกู้โลกให้รอดโดยพระบุตรนั้น (ยอห์น 3:14-17)

 

ไม่มีความรักใดจะยิ่งใหญ่ไปกว่าการที่คนคนหนึ่งจะยอมเสียสละชีวิตของตนเองเพื่อมิตรสหายของเขา ความรักของพระเจ้าก็เฉกเดียวกัน พระองค์ทรงประทานพระบุตรองค์เดียวซึ่งพระองค์ทรงรักให้มารับการทรมานบนไม้กางเขนเพื่อชดเชยกับความบาปผิดที่มนุษย์เป็นผู้ก่อ จึงเป็นความจริงที่ว่าแม้แต่พระเจ้าก็ทรงทนทุกข์ด้วย เราจึงสามารถเข้าใจความสัมพันธ์ของพระเจ้าที่มีต่อชนชาติอิสราเอลดังที่ผู้เผยพระวจนะได้กล่าวไว้

 

พระองค์ทรงทุกข์พระทัยในความทุกข์ใจทั้งสิ้นของเขาและทูตสวรรค์ที่อยู่ต่อพระพักตร์พระองค์ช่วยเขาทั้งหลายให้รอด” (อิสยาห์ 63:9, ดูผู้วินิจฉัย 2:16)

 

แล้วเหตุใดพระเจ้าไม่ทรงยับยั้งเรื่องทุกข์ร้อนนั้นเล่า

พระเจ้าแห่งอิสราเอลไม่ได้เป็นพระเจ้าที่อยู่ห่างไกลเกินมนุษย์จะเข้าถึงหรือไร้ซึ่งอารมณ์ต่างๆโดยสิ้นเชิง

พระวิญญาณบริสุทธิ์ทรงเสียพระทัยเป็น ทรงสะเทือนพระทัยเมื่อได้รับทราบถึงชะตากรรมอันเลวร้ายของชีวิตหนึ่ง พระองค์สามารถรักได้ด้วยความรักอันไม่มีที่สิ้นสุด ที่กล่าวมานี้ล้วนเป็นคำกล่าวในพระคัมภีร์ ซึ่งแสดงให้เราได้เห็นแง่มุมที่ว่าพระเจ้าทรงเป็นพระเจ้าผู้ยิ่งใหญ่สูงสุด แต่กลับสามารถเข้าถึงชีวิตมนุษย์ทั้งชายและหญิงที่พระองค์ทรงสร้างได้

 

ผู้คนมักจะถามว่า ทำไมพระเจ้าไม่ทรงเข้ายับยั้งเหตุการณ์ร้ายๆ ยุติสงครามและการนองเลือด ป้องกันโรคร้ายและอื่นๆ แน่นอนว่าพระเจ้าทรงเข้าแทรกแซงในกิจการของมนุษย์แน่นอน พระองค์ทรงสำแดงฤทธิ์อำนาจของพระองค์หลายต่อหลายครั้งในประวัติศาสตร์โลก แต่การเข้าแทรกแซงของพระองค์ก็ยังมีข้อจำกัด นั่นคือ พระองค์ทรงมอบสิ่งที่เรียกว่าอิสระในการเลือกให้แก่มนุษย์ และทรงอนุญาตให้พวกเขาใช้สิ่งนี้ได้อย่างเต็มที่  คือ อาจเพื่อการดีหรือการร้าย ตามแต่ใจของพวกเขาจะเลือก  

 

พระเจ้าทรงเข้าแทรงแซงในประวัติศาสตร์ของชนชาติอิสราเอลซึ่งทรงเลือกนั้นและทรงให้โอกาสพิเศษแก่พวกเขาได้นมัสการพระองค์และเป็นพยานถึงกิจการอันใหญ่ยิ่งที่พระองค์ทรงกระทำนั้น พระองค์ทรงแสดงความไว้ใจแก่พวกเขาโดยการสำแดงสิ่งที่เป็นความลับแห่งอนาคตของโลกแก่พวกเขาพร้อมทั้งพระสัญญาเรื่องต่างๆและคำพยากรณ์ถึงพระเมสสิยาห์ผู้ที่จะเสด็จมานั้น

 

พระเจ้าทรงส่งพระบุตรของพระองค์มา

เรื่องนี้ได้เกิดขึ้นเมื่อนานมาแล้ว นับเป็นเวลาเกือบ 2000 ปีมาแล้ว พระเจ้าได้เข้าแทรกแซงในชีวิตและประวัติศาสตร์ของมนุษยชาติโดยการให้พระคริสต์ ผู้เป็นพระบุตรของพระองค์มายังโลกเพื่อให้มีส่วนในการทนทุกข์เยี่ยงมนุษย์จนถึงที่สุดที่คนคนหนึ่งจะพบได้ เพื่อพระองค์จะทรงไถ่มนุษย์จากบาปและความตายได้ พระคริสต์เสด็จมามีชีวิตและธรรมชาติเฉกเช่นมนุษย์ พระองค์ทรงมีประสบการณ์เฉกเช่นที่เราๆมีกันและต้องทนกับการทดลองต่างๆทั้งจากภายในจิตใจรวมถึงความเจ็บปวดต่างๆทางร่างกายซึ่งเป็นเรื่องธรรมดาสำหรับมนุษย์เรา

 

พระองค์จะทรงให้ผู้เบิกทางความรอดให้เขาเหล่านั้นพร้อมที่จะทรงดำเนินงานนี้โดยทรงให้รับความทุกข์ทรมาน...เหตุฉะนั้นพระองค์จึงทรงต้องเป็นเหมือนกับพี่น้องทุกอย่างเพื่อว่าพระองค์จะได้ทรงเป็นมหาปุโรหิตผู้กอปรด้วยความเมตตาและความสัตย์ซื่อในการกระทำกิจกับพระเจ้าเพื่อลบล้างบาปของประชาชน เพราะเหตุที่พระองค์ได้ทรงทนทุกข์ทรมานและถูกลองใจพระองค์จึงทรงสามารถช่วยผู้ที่ถูกลองใจได้ (ฮีบรู 2:10-18)

ถึงแม้ว่าพระองค์ทรงเป็นพระบุตร พระองค์ก็ทรงเรียนรู้ที่จะนอบน้อมยอมเชื่อฟังโดยความทุกข์ลำบากที่พระองค์ได้ทรงทน (ฮีบรู 5:8)

โดยการที่พระองค์ทรงยอมรับความทุกข์โดยนอบน้อมต่อพระประสงค์ของพระเจ้า พระองค์ทรงสร้างความหมายใหม่แก่การทนทุกข์และแสดงให้เห็นว่านี่ไม่ใช่ความชั่วร้ายอันยิ่งใหญ่ที่สุดอีกต่อไปแต่เป็นหนทางที่จะนำไปสู่จุดจบ เพราะอาศัยการทนทุกข์อย่างนอบน้อมต่อพระเจ้า พระองค์ทรงกำชัยชนะเหนืออำนาจบาปในธรรมชาติของมนุษย์แล้ว ดังนั้นการเป็นขึ้นจากตายสู่ชีวิตนิรันดร์กับพระบิดาจึงเกิดมีขึ้นได้ ผ่านการทนทุกข์และความตายพระองค์จึงทรงสมบูรณ์แบบ มีศรัทธาที่ผ่านการทดสอบแล้วว่ากล้าแข็ง ทรงเชื่อฟังพระเจ้าพระบิดาอย่างหมดหัวใจ เป็นหนึ่งเดียวในความรักของพระเจ้าและมนุษย์และเป็นตัวอย่างให้ผู้เชื่อได้ทำตาม

สมบูรณ์แบบด้วยการทนทุกข์

เพราะพระเจ้าทรงใช้ท่านสำหรับเหตุการณ์เช่นนี้เพราะว่าพระคริสต์ก็ได้ทรงทนทุกข์ทรมานเพื่อท่านทั้งหลายให้เป็นแบบอย่างแก่ท่านเพื่อท่านจะได้ดำเนินตามรอยพระบาทของพระองค์ พระองค์ไม่ได้ทรงกระทำบาปเลยและไม่ได้ตรัสคำเท็จเลย  เมื่อเขากล่าวคำหยาบคายต่อพระองค์ พระองค์ไม่ได้ทรงกล่าวตอบเขาด้วยคำหยาบคายเลยเมื่อพระองค์ทรงทนทุกข์พระองค์ไม่ได้ทรงมาดร้าย แต่ทรงมอบเรื่องของพระองค์ไว้แก่พระเจ้าผู้ทรงพิพากษาอย่างยุติธรรม พระองค์เองได้ทรงรับแบกบาปของเราไว้ในพระกายของพระองค์ที่ต้นไม้นั้น เพื่อว่าเราทั้งหลายจะได้ตายจากบาปได้และดำเนินชีวิตตามคลองธรรมด้วยบาดแผลของพระองค์ ท่านทั้งหลายจึงได้รับการรักษาให้หาย(1เปโตร 2:21-24)

และ เมื่อพระเจ้าทรงทำให้พระเยซูเพียบพร้อมทุกประการแล้ว พระเยซูก็เลยทรงเป็นแหล่งกำเนิดแห่งความรอด นิรันดร์สำหรับคนทั้งปวงที่เชื่อพระองค์ (ฮีบรู 5:9) พระองค์ทรงเป็นผู้เริ่มแห่งการไถ่ เป็นแหล่งกำเนิด เป็นต้นเหตุ ของการทรงไถ่ที่มนุษย์มิอาจหามาให้ตัวของเขาเองได้ เพราะเมื่อพระองค์ทรงสละชีวิตเพื่อรับโทษทัณฑ์แทนมนุษย์ มนุษย์ทั้งชายและหญิงที่เข้ามาหาพระองค์เพื่อจะได้ชีวิตนิรันดร์ก็จะได้รับการยอมรับโดยองค์พระผู้เป็นเจ้าด้วยว่าพวกเขาต่างก็เป็นคนของพระคริสต์ และเช่นเดียวกันเมื่อพระองค์ทรงเป็นขึ้นมาในวันที่สามนั้น ก็เกิดมีการคืนชีพทางฝ่ายวิญญาณ เกิดเป็นชีวิตใหม่สำหรับผู้ที่รับบัพติสมาเข้าในพระองค์แล้ว พร้อมกับความหวังเรื่องการคืนชีพของกายและการเปลี่ยนแปลงสู่ความเป็นอมตะในวันที่พระองค์เสด็จมา

ผู้ที่มีส่วนในพระธรรมชาติอันศักดิ์สิทธิ์

หากชายและหญิงจะได้เป็น ผู้ที่มีส่วนในพระธรรมชาติอันศักดิ์สิทธิ์ (2 เปโตร 1:4) ถูกยกขึ้นจากสภาพบาปจนขึ้นถึงระดับที่พวกเขาสามารถรู้จักพระเจ้าได้ ได้ร่วมในมิตรภาพนิรันดร์กับพระองค์และมีชีวิตเป็นนิรันดร์ไม่มีวันเสื่อมสลาย ก็คงจะมีแต่พระเจ้าเท่านั้นที่จะทรงทราบว่าคนเหล่านั้นจะต้องติดสนิทกับพระองค์อย่างไรบ้าง นี่เป็นวิถีแห่งสวรรค์ คือ มนุษย์ไม่อาจขวนขวายซื้อหามาได้ด้วยตัวเอง แต่ต้องอาศัยของขวัญที่พระบุตรทรงมอบให้ นั่นคือ การยอมมอบชีวิตของพระองค์บนไม้กางเขน

หากว่าในครั้งนั้น พระเจ้าทรงต้องทนทุกข์จริงและหากว่าเพราะทรงเชื่อฟังพระบิดา พระคริสต์ทรงยอมรับเอาพระมหาทรมานอันร้ายแรงจนต้องสิ้นพระชนม์จริง ปัญหาเรื่องการทนทุกข์ของมนุษย์ก็นับว่าได้ถูกยกระดับขึ้นไปสู่ความหมายใหม่แล้ว โดยปราศจากศรัทธาในพระเจ้า การทนทุกข์คือสิ่งเลวร้ายที่ต้องสู้ทน แต่เมื่อมีศรัทธาและยอมรับเอาพระบุตรของพระเจ้าเป็นตัวอย่าง การทนทุกข์อาจช่วยขัดเกลาดวงวิญญาณของเราให้บริสุทธิ์มีสง่าราศี เป็นวิธีที่พระเจ้าทรงเลือกใช้เพื่อเรียกคนที่ทนทุกข์เข้ามาใกล้พระองค์  แท้ที่จริงแล้ว นี่อาจเป็นการเรียนรู้อันศักดิ์สิทธิ์จากเบื้องบน คือ เป็นการตีสอนที่มาจากองค์พระผู้เป็นเจ้า

 

ทุกอย่างจะถูกชำระใหม่หมด

หากพระบุตรของพระเจ้าเองยังต้องทรงทนทุกข์ มนุษย์เช่นเราจะหลีกหนีได้หรือ แต่เหนือการทนทุกข์นั้นคือการเป็นขึ้นจากตาย และเหนือการเป็นขึ้นจากตายคืออาณาจักรของพระเจ้าเมื่อพระคริสต์จะเสด็จมาปกครองและรวบรวมเอาบรรดาผู้ที่อุทิศตัวเองเพื่อติดตามพระองค์เข้าไว้ในนั้น

เวลาที่พระอาณาจักรจะถูกสถาปนานั้นใกล้เข้ามาแล้ว แต่พระคำของพระเจ้าและคำพยากรณ์ของผู้เผยพระวจนะแสดงไว้อย่างชัดเจนว่าการเสด็จกลับมาของพระคริสต์จะยังไม่เกิดขึ้นจนกว่าจะเกิดภัยพิบัติอันใหญ่ยิ่งกับโลกเสียก่อนและไม่ต้องสงสัยเลยว่าบรรดาผู้ที่เลือกติดตามพระองค์ก็ต้องพบเจอเหตุการณ์ที่ว่านี้ด้วยเช่นกัน

ด้วยว่าในคราวนั้นจะเกิดความทุกข์ลำบากใหญ่ยิ่งอย่างที่ไม่เคยมีตั้งแต่เริ่มโลกมาจนถึงทุกวันนี้และในเบื้องหน้าจะไม่มีต่อไปอีก ถ้ามิได้ทรงให้วันเหล่านั้นย่นสั้นเข้า จะไม่มีมนุษย์รอดได้เลย แต่เพราะทรงเห็นแก่ผู้เลือกสรรจึงทรงให้วันเหล่านั้นย่นสั้นเข้า” (มัทธิว 24:21, 22)

แต่เมื่อองค์พระเยซูคริสตเจ้าทรงปรากฏพระองค์ขึ้น พระองค์จะทรงชำระความชั่วร้ายไปจากผืนโลก ยุติการงานแห่งบาปทั้งหลายและความเห็นแก่ตัว ขจัดโรคภัยและความตายอันถือเป็นที่สุดแห่งชีวิตมนุษย์ พระองค์จะทรงปกครองเพื่อพระเจ้าและความทุกข์จะไม่มีอีกต่อไป แล้วนิมิตรที่อัครสาวกยอห์นได้ฟังที่เกาะปัทมอสจึงจะเป็นจริง

ข้าพเจ้าได้ยินเสียงดังมาจากพระที่นั่งว่าดูเถิดพลับพลาของพระเจ้าอยู่กับมนุษย์แล้วพระองค์จะทรงสถิตกับเขาเขาจะเป็นชนชาติของพระองค์และพระเจ้าเองจะประทับอยู่กับเขา{สำเนาต้นฉบับบางฉบับเพิ่มคำว่าและจะทรงเป็นพระเจ้า} พระเจ้าจะทรงเช็ดน้ำตาทุกๆหยดจากตาของเขา ความตายจะไม่มีอีกต่อไป การคร่ำครวญ การร้องไห้และการเจ็บปวดจะไม่มีอีกต่อไปเพราะยุคเดิมนั้นได้ผ่านพ้นไปแล้ว  พระองค์ผู้ประทับบนพระที่นั่งตรัสว่าดูเถิดเราสร้างสิ่งสารพัดขึ้นใหม่ (วิวรณ์ 21:3-5)

สำหรับบรรดาผู้ที่ตอบสนองต่อความรักของพระเจ้า หนทางแห่งการทนทุกข์ก็กลับกลายเป็นหนทางที่นำไปสู่ชีวิต และนั่นถือเป็นจุดประสงค์หลักที่ต้องเกิดมีความทุกข์ขึ้นในโลก พระองค์ยังทรงเรียกเราอยู่ ยังมีโอกาสสำหรับบรรดาผู้ที่แสวงหาความหวังในโลกอันเลวร้ายใบนี้ พวกเขาจะหามันพบได้ใน ข่าวดี ที่บรรจุอยู่ในพระคำของพระเจ้า

ดัดแปลงโดย แอล จี ซาร์เจนท์

Louis Sargent