เหตุใดพิธีบัพติศมาจึงสำคัญยิ่ง

เราต้องทำอย่างไรจึงจะรอดได้

Why baptism really matters

 

ไม่น่าสงสัยเลยว่าเหตุใดคนสมัยนี้จึงมักกล่าวว่า จะไปรับพิธีล้างบาปให้ยุ่งยากทำไมกัน มันก็แค่พิธีกรรมไม่ใช่เหรอ ก็แค่ให้พระในวัดเอาน้ำเสกสองสามหยดมาพรมใส่หัวเด็กทารก ก็คือการอาบน้ำนั่นแหละ จะต่างอะไรกันมากมาย เสียเวลาเปล่าๆ 

 

คำตอบอย่างสั้นก็คือ พระธรรมภาคพันธสัญญาใหม่กล่าวถึงพิธีบัพติศมาไว้มากมาย ทั้งจากพระโอษฐ์ของพระเยซูเองและจากคำพูดของอัครสาวกของพระองค์ ข้อเท็จจริงในขณะนี้ก็คือ พระคัมภีร์คือแหล่งอ้างอิงเดียวที่เรามี หากเราต้องการจะทราบว่าพระเยซูคือใคร ทรงสอนอะไรและทรงบัญชาให้เหล่าผู้ติดตามทั้งหลายทำสิ่งใด เราต้องย้อนกลับไปดูพระคริสตธรรมคัมภีร์เพื่อหาคำตอบ การหาข้อมูลจากแหล่งอื่นถือเป็นการอาศัยความเห็นของมนุษย์ ไม่ว่าจะรายบุคคลหรือกลุ่มคนในสภาสงฆ์หรือสภาท้องถิ่น สิ่งที่พระคัมภีร์บอกเราเกี่ยวกับพิธีบัพติศนั้นต้องสำคัญต่อเราจริงๆ หากพระคริสต์และอัครสาวกที่พระองค์ทรงเลือกไว้ได้ประกาศบางสิ่งเกี่ยวกับการบัพติศมาไว้จริง เราก็ควรจะอยากทราบว่ามีเรื่องอะไรบ้าง

 

คำถามที่สำคัญมากคงหนีไม่พ้นคำถามที่ว่า  เหตุใดพระเยซูจึงทรงสั่งและสอน  แล้วอัครสาวกทั้งหลายยอมกระทำตามในเรื่องใดบ้าง

 

 เกิดจากน้ำ

พระเยซูตรัสกับนิโคเดมัส ผู้นำชาวยิวที่มาหาพระองค์ในยามค่ำคืนว่า ถ้าผู้ใดไม่ได้บังเกิดใหม่{หรือจากเบื้องบน} ผู้นั้นจะเห็นแผ่นดินของพระเจ้าไม่ได้ เมื่อนิโคเดมัสเอาคำที่พระเยซูตรัสบอกไปคิดตามตัวอักษร พระเยซูจึงทรงอธิบายต่อด้วยว่า ถ้าผู้ใดไม่ได้บังเกิดใหม่จากน้ำและพระวิญญาณผู้นั้นจะเข้าในแผ่นดินของพระเจ้าไม่ได้ (ยอห์น 3:3, 5) แต่เหตุใดพระองค์จึงตรัสว่า ถ้าผู้ใดไม่ได้บังเกิดใหม่จากน้ำ...ถ้าหากพระองค์มิได้หมายความถึงพิธีบัพติศมา ท่านยอห์นผู้ให้รับบัพติศมาออกเทศน์อย่างแข็งขันให้เราสำนึกบาปและท่านได้ให้บัพติศมาแก่คนมากมายในแม่น้ำจอร์แดน พระเยซูเองก็ทรงรับบัพติศมาจากยอห์นผู้นี้ พระองค์ตรัสว่า แต่พระเยซูตรัสตอบยอห์นว่าบัดนี้จงยอมเถิดเพราะสมควรที่เราทั้งหลายจะกระทำตามสิ่งชอบธรรมทุกประการ (มัทธิว 3:15, R.S.V.)  ดังนั้นจึงไม่ต้องสงสัยเลยว่ามื่อพระเยซูตรัสว่า ถ้าผู้ใดไม่ได้บังเกิดใหม่จากน้ำ...” พระองค์ทรงพยายามจะบอกว่าถ้าจะเข้าไปในพระอาณาจักรของพระเจ้า ทั้งชายและหญิงจะต้องรับบัพติศมาเสียก่อน

 

ถ้อยคำนี้ได้รับการย้ำอีกครั้งโดยพระบัญชาของพระเยซูที่ทรงตรัสกับสาวกของพระองค์ ขณะที่พระองค์กำลังจะจากพวกเขาขึ้นสวรรค์ :

เหตุฉะนั้นเจ้าทั้งหลายจงออกไปสั่งสอนชนทุกชาติให้เป็นสาวกของเราให้รับบัพติศมาในพระนามแห่งพระบิดาพระบุตรและพระวิญญาณบริสุทธิ์ สอนเขาให้ถือรักษาสิ่งสารพัดซึ่งเราได้สั่งพวกเจ้าไว้(มัทธิว 28:19-20)

งานที่อัครสาวกต้องทำหลังจากการเสด็จสู่สวรรค์ของพระเยซูก็คือพันธกิจแห่งการสั่งสอนซึ่งแน่นอนว่ารวมถึงการให้บัพติศมาด้วย

 

อัครสาวกทำอะไร

แต่อัครสาวกตีความการสั่งสอนเหล่านี้ว่าอย่างไรในแง่ปฏิบัติ รายละเอียดของสิ่งต่างๆที่พวกเขาได้ทำในหนังสือพระธรรมกิจการของอัครสาวกนับว่ามีคุณค่ามาก เราจะศึกษาพระธรรมนี้สักเล็กน้อย

กิจการ 2:36-38 เปโตรบอกกับประชาชนในกรุงเยรูซาเล็มว่าพวกเขาได้ตรึงพระเยซู ผู้เป็นพระเจ้าและองค์พระคริสต์ เสียแล้ว พวกนั้นพากันขวัญเสีย ต่างถามกันว่า เราจะทำอย่างไรดี

 

เปโตรก็ตอบไปตรงๆว่า

จงกลับใจใหม่และรับบัพติศมา{พิธีใช้น้ำเป็นสัญลักษณ์เล็งถึงการที่พระเจ้าทรงให้อภัยคนบาป}ในพระนามแห่งพระเยซูคริสต์สิ้นทุกคน เพื่อพระเจ้าจะทรงยกความผิดบาปของท่านเสียแล้ว

 

กิจการ 2:41 เราได้รู้ว่าประชาชนเหล่านั้นตอบเปโตรว่าอย่างไร

คนทั้งหลายที่รับคำของเปโตรก็รับบัพติศมาในวันนั้น…”

 

กิจการ 8:12 ฟิลิปเทศนาพระคำของพระเจ้าในสะมาเรีย

แต่เมื่อฟีลิปได้ประกาศข่าวประเสริฐว่าด้วยแผ่นดินของพระเจ้าและพระนามแห่งพระเยซูคริสต์แล้วคนทั้งหลายก็เชื่อและรับบัพติศมาทั้งชายและหญิง..

 

กิจการ8:39 ได้ฟังฟิลิปเล่าถึงความหมายของการที่พระยซูทรง กระทำให้พระวจนะของพระเจ้าสำเร็จไปขันทีชาวเอธิโอเปียจึงถามท่านด้วยความใคร่รู้ว่า มีอะไรขัดข้องไม่ให้ข้าพเจ้ารับบัพติศมาและคนทั้งสองลงไปในน้ำทั้งฟีลิปกับขันที ฟีลิปก็ให้ท่านรับบัพติศมา ฟิลลิปคงได้บอกกับขันทีถึงความหมายและความจำเป็นของพัพติศมา ขันทีจึงได้ถามท่านด้วยคำถามข้างต้นนั้น

 

กิจการ 9:18 ซาอูลแห่ง ทาร์ซัส ต้องตาบอดเมื่อเขาได้เห็นพระเยซูผู้ทรงเป็นขึ้น ในระหว่างทางไปเมืองดามัสกัส เขาได้พบกับสาวกผู้ซื่อสัตย์ของพระเจ้าชื่อ อานาเนีย เมื่อเปาโลได้ยินคำพูดของอานาเนีย ในทันใดนั้นมีอะไรเหมือนเกล็ดตกจากตาของเซาโลแล้วก็เห็นได้อีก ท่านจึงลุกขึ้นรับบัพติศมา

 

กิจการ 16:14-15 ลิเดีย เป็นคนที่ถือพระเจ้า สนใจที่เปาโลเทศนาและ ได้รับบัพติศมา…”

 

กิจการ 16:30-33 นายคุกชาวฟิลิปปีได้ยินเปาโลเทศนาอยู่ในเมือง จึงร้องขึ้นว่า ข้าพเจ้าจะต้องทำอย่างไรจึงจะรอดได้ เปาโลและสิลาส จึงกล่าวสั่งสอนพระวจนะของพระเจ้าให้นายคุก ผลที่เกิดขึ้นก็คือ นายคุกก็ได้รับบัพติศมา 

กิจการ 18:25-26 เปาโลได้พบผู้เชื่อจำนวนหนึ่งที่เมืองเอเฟซัส ซึ่งรู้จักเพียงแค่การให้บัพติศมาของท่านยอห์น(ผู้ให้รับบัพติศมา) เปาโลจึงอธิบายแก่พวกเขาว่า

 

ยอห์นให้รับบัพติศมาสำแดงถึงการกลับใจใหม่แล้วบอกคนทั้งปวงให้เชื่อในพระองค์ผู้จะเสด็จมาภายหลังคือพระเยซู เมื่อเขาได้ยินอย่างนั้นเขาจึงรับบัพติศมาในพระนามของพระเยซูเจ้า 

 

 

โครเนลิอัส

ในกรณีของโครเนลิอัส (กิจการบทที่ 10) อยู่สุดท้ายในรายการนี้ เพราะเรื่องของเขามีลักษณะพิเศษบางประการซึ่งมีความน่าสนใจมากสำหรับคนในปัจจุบัน เขาเป็นทหารโรมันผู้ที่ได้มารู้จักและนมัสการพระเจ้าของอิสราเอล  ทั้งท่านและครอบครัวเป็นคนยำเกรงพระเจ้า ท่านเคยให้ทานมากมายแก่ประชาชนและอธิษฐานพระเจ้าเสมอ (ข้อ 2)

 

ช่างเป็นคนที่น่าชื่นชมอะไรอย่างนี้ ผู้ที่นมัสการพระเจ้า คนที่ดีทั้งทางโลกและทางธรรม แน่ละว่าเขาคงไม่เรียกร้องอะไรมากมาย แต่พระคัมภีร์บอกเราว่าเขาเรียกร้องบางสิ่ง อัครสาวกเปโตรได้รับคำสั่งให้ไปหาเขาและสอนเขาให้รู้ถึง ถ้อยคำซึ่งจะให้ท่านกับครอบครัวของท่านรอด (11:14) เปโตรได้อธิบายถึงการงานของพระเจ้าในองค์พระคริสต์ คือ ทุกๆคนที่เชื่อถือในพระองค์นั้นพระเจ้าจะทรงยกความผิดบาปของเขาเพราะพระนามของพระองค์(10:43)

 

ตอนนี้เปโตรเริ่มลังเลใจที่จะไปทำงานที่ได้รับมอบหมายมานี้ เช่นเดียวกับสหายชาวยิวของเขาที่มีอคติต่อการรับคนต่างชาติมาร่วมเป็นส่วนหนึ่งของกายเดียวกันของผู้เชื่อ พระเจ้าทรงโต้แย้งเปโตรโดยให้เขาเห็นภาพนิมิตร (ข้อ 9-15) ทรงสอนเขาว่า เขาไม่ควรจะเรียกสิ่งใดว่าเป็นมลทินในเมื่อพระเจ้าได้ทรงชำระแล้ว เมื่อโครเนลิอัสเชื่อถ้อยคำของเปโตร พระเจ้าทรงประทานหมายสำคัญอีกอย่างเพื่อให้พวกยิวเปลี่ยนความคิด กล่าวคือ พระวิญญาณบริสุทธิ์ก็เสด็จลงมาสถิตย์กับคนทั้งปวงที่ฟังพระวจนะนั้น (ข้อ 44) เรื่องนี้เป็นที่น่าตกใจสำหรับคนยิวเป็นอย่างยิ่ง เพราะนี่เป็นของประทานจากพระเจ้า ซึ่งหมายจะให้พวกเขาเชื่อว่าเป็นน้ำพระทัยของพระเจ้าที่จะรับพวกต่างชาติให้มาร่วมเชื่อในพระองค์ด้วย ปฏิกริยาของเปโตรนั้นสอนพวกเขาได้เป็นอย่างดี

ใครอาจจะห้ามคนเหล่านี้ที่ได้รับพระวิญญาณบริสุทธิ์เหมือนเราโดยมิให้เขารับบัพติศมาด้วยน้ำได้ เปโตรจึงสั่งให้เขารับบัพติศมาในพระนามของพระเยซูคริสต์ (ข้อ 47-48)

โปรดสังเกตข้อเท็จจริงที่น่าตกใจที่ว่า แม้โครเนลิอัสและครอบครัวเพิ่งจะได้รับของประทานจากพระวิญญาณบริสุทธิ์ เปโตรก็ยัง สั่งพวกเขาให้รับบัพติศมา จะมีหลักฐานที่น่าประทับใจอะไรมาพิสูจน์เรื่องความจำเป็นที่จะต้องรับบัพติศมาอีกหรือไม่

ดังนั้นจึงเป็นที่ชัดเจนว่าการบัพติศมามิใช่เป็นแค่การชำระผิวกาย แต่เป็นขั้นตอนที่มีความหมายในกระบวนการแห่งการช่วยให้รอด

เราจะรอดได้อย่างไร

หากพิจารณาอย่างผิวเผิน ปัญหานี้ดูท่าจะแก้ไม่ตก เพราะเห็นได้ชัดว่าอุปสรรคใหญ่ที่คอยขวางอยู่ คือ ความล้มเหลวอย่างต่อเนื่องของชายและหญิง ที่จะใช้ชีวิตตามที่พระเจ้าทรงหวังไว้ พระคัมภีร์เรียกความล้มเหลวนี้ว่า บาปมันเป็นคำที่เราไม่อาจจะมองข้ามไปได้เพียงเพราะมันไม่เป็นที่นิยมหรือเพราะเราไม่ชอบมัน พระเจ้าทรงใช้คำนี้ด้วยพระองค์เองเมื่อตรัสถึงความล้มเหลวของมนุษย์ ในพระธรรมเดิมผู้เผยพระวจนะของพระองค์ก็ใช้คำนี้เมื่อกล่าวถึงการล่วงละเมิดของอิสราเอล ในพระธรรมใหม่พระเยซูก็ทรงใช้คำนี้และอัครสาวกของพระองค์ก็เช่นเดียวกัน ข้อเท็จจริงเรื่องความบาปของมนุษย์นั้นปรากฏอยู่อย่างชัดเจนในสารที่พระเจ้าทรงฝากไว้ให้เรา ว่าเราไม่สามารถจะปัดมันออกเหมือนปัดฝุ่นที่ติดเสื้อได้ แล้วบอกว่าไม่เห็นเป็นไรเลย ไม่น่าสงสัยเลยว่าทำไมพระเจ้าทรงถือเอาเรื่องความบาปนี้เป็นเรื่องจริงจัง

ยิ่งไปกว่านั้น พระองค์ทรงประทานหนทางหนึ่งไว้ให้ เพื่อใช้กำจัดความบาปของมนุษย์ อันเป็นอุปสรรคอันยิ่งใหญ่ต่อ การทรงไถ่ของพระเจ้า เพื่อที่ว่าคนที่ได้ยินและเชื่อฟังคำของพระองค์จะได้รับการชำระ พระองค์ทรงเริ่มหนทางดังกล่าวโดยให้พระบุตรของพระองค์ คือ พระเยซูมาบังเกิดกับนางมารีย์ผู้เป็นหญิงสาวชาวยิวในเมืองนาซาเร็ธโดยฤทธิ์เดชแห่งพระวิญญาณบริสุทธิ์ของพระองค์ ข้อเท็จจริงเรื่องนี้ปรากฏอย่างชัดเจนอยู่ในพระธรรมลูกา ว่าดังนี้

ทูตสวรรค์จึงตอบนางว่าพระวิญญาณบริสุทธิ์จะเสด็จลงมาบนเธอและฤทธิ์เดชของผู้สูงสุดจะปกเธอเหตุฉะนั้นบุตรที่จะเกิดมานั้นจะได้เรียกว่าวิสุทธิ์และเรียกว่าพระบุตรของพระเจ้า (1:35)

แต่จุดประสงค์ที่แท้จริงที่พระเจ้าทรงให้พระบุตรของพระองค์มาบังเกิดจากมารดาผู้เป็นมนุษย์ถูกแสดงไว้ในคำพูดของทูตสวรรค์ของพระเจ้าที่มีต่อโยเซฟว่า

เจ้าจงเรียกนามท่านว่าเยซูเพราะว่าท่านเป็นผู้ที่จะโปรดช่วยชนชาติของท่านให้รอดจากความผิดบาปของเขา (มัทธิว 1:21)

 

มรณะกรรมของพระเยซู

แล้วการกระทำเช่นนั้นของพระเจ้าจะช่วยให้รอดจากบาป ได้อย่างไรกัน คำตอบที่น่าอัศจรรย์ของคำถามนี้ปรากฏอยู่ในชีวิตและบทบาทของพระเยซู และท้ายที่สุดก็คือความตายของพระองค์บนไม้กางเขน สำหรับชีวิตของพระเยซูเจ้า เห็นได้ชัดว่าพระธรรมชาติของพระองค์เป็นเหมือนเราทุกอย่าง เป็นเรื่องที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ที่พระองค์จะมีพระธรรมชาติเดียวกันกับพระมารดาของพระองค์ คือกายเนื้อ พระธรรมฮีบรูบอกเราว่าพระองค์ทรงเป็นเหมือนเราคือ มี เลือดเนื้อ” (2:14) นั่นก็หมายความว่าพระองค์ต้องมีประสบการณ์อย่างเราในทุกแง่มุมมาแล้ว จดหมายถึงชาวฮีบรูยังบอกต่ออีกด้วยว่า

เพราะเหตุที่พระองค์ได้ทรงทนทุกข์ทรมานและถูกลองใจ...ได้ทรงถูกทดลองใจเหมือนอย่างเราทุกประการถึงกระนั้นพระองค์ก็ยังปราศจากบาป (2:18, 4:15)

พูดง่ายๆก็คือพระเยซูทรงต้องพบเจอกับความปรารถนาที่ปุถุชนต้องพบเจอ พระองค์ต้องรู้สึกกดดัน เพราะต้องสู้กับความต้องการตามประสาเนื้อหนังที่รักสบาย ตามความพอใจที่ร่างกายใฝ่หา พระองค์ต้องสู้กับทิฐิของตัวเอง ความปรารถนาที่จะร่ำรวยและมีอำนาจ แต่ที่ต่างจากคนอื่นๆที่เคยมีชีวิตมาก่อนหน้านี้ พระองค์มิได้ทรงยอมแพ้ต่อความปรารถนาทางกายเหล่านั้น พระองค์ทรงปฏิเสธพวกมันและเชื่อฟังพระเจ้าด้วยความสัตย์ซื่อเสมอมา

เรื่องนี้มีความสำคัญมาก เพราะนี่เป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ที่มนุษย์คนหนึ่งสามารถเอาชนะบาปได้ชนิดถอนรากถอนโคนจากส่วนลึกในสันดานของมนุษย์เลยทีเดียว สิ่งที่มนุษย์ทั้งชายหญิงทำไม่สำเร็จ พระเจ้าทรงกระทำให้สำเร็จผ่านทางพระคริสต์แล้ว

เมื่อปราศจากบาปแต่ยังเป็นส่วนหนึ่งของมนุษยชาติ พระเยซูทรงถวายพระองค์เองเป็น พระเมษโปดก {คำศัพท์แปลว่าลูกแกะ} ของพระเจ้าผู้ทรงรับความผิดบาปของโลกไปเสีย(ยอห์น 1:29, R.S.V.) พูดอีกอย่างก็คือ พระองค์ทรงยอมตายบนกางเขนเพื่อเป็นเครื่องไถ่บาปให้เรา ในฐานะที่ทรงเป็นตัวแทนมนุษยชาติ พระองค์ทรงรักษาการพิพากษาอันยุติธรรมของพระเจ้าไว้และ ประณามความบาปยิ่งไปกว่านั้นพระองค์ทรงประณามความบาปในธรรมชาติของมนุษย์ซึ่งปกติแล้วเราจะยอมแพ้ราบคาบต่อมัน ในเนื้อหนังด้วยหนทางนี้พระองค์มอบชีวิตของพระองค์เป็น เครื่องบูชาไถ่คนจากบาป” (โรม 8:3)   น่าอัศจรรย์ใจ เพราะพระเยซูทรงปราศจากบาป พระเจ้าจึงสามารถชุบให้พระองค์เป็นขึ้นจากความตายสู่ชีวิตใหม่ที่เป็นอมตะและทรงฤทธิ์ได้อย่างเป็นธรรม

ทุกคนก็เหมือนกัน มันจะช่วยเราได้อย่างไร เราไม่ได้มีชีวิตที่ดีประเสริฐและไม่มีหวังที่จะเป็นไปได้ ตราบเท่าที่เรายังต้องอยู่ในเนื้อหนังที่เต็มไปด้วยบาปนี้

 

เงื่อนไขของพระเจ้า

คำตอบมิใช่เป็นเรื่องของสิ่งมหัศจรรย์ใดๆ  พระเจ้าจะไม่ เปลี่ยนเรา ทันทีทันใด เพียงเพราะเราพูดว่าเราเชื่อในตัวพระบุตรของพระองค์ และพระองค์จะไม่มองว่าเราเป็นพวกที่ปราศจากบาปด้วยเพียงเพราะเห็นแก่การยอมตายของพระบุตร   ที่พระเจ้าทรงยกโทษบาปให้ก็เพราะพระองค์ทรงเมตตาและทรงพระคุณยกบาปให้    แต่ยังมีเงื่อนไขอยู่บางประการ เงื่อนไขหลักก็คือ ชายหญิงที่เข้ามาหาพระองค์ทางพระเยซูต้องยอมรับความจริงเกี่ยวกับตัวพวกเขา และต้องมองว่าความตายของพระเยซูบนไม้กางเขนนั้นเป็นการไถ่โทษอันใหญ่หลวงเพราะความบาปที่ตัวเขาทำ พวกเขาต้องพยายามใช้ชีวิตโดยปฏิเสธความต้องการของตัวเอง แต่อยู่โดยเจตนารมณ์ของพระเยซูคือใน พระคุณและความจริง 

 

แล้วพระเจ้าจะ ทรงยกโทษความผิดแก่เราและจะต้อนรับเราสู่ความสัมพันธ์ที่ดีกับพระองค์เอง ด้วยหนทางนี้เท่านั้นที่พระองค์จะสามารถดูแลเราอย่างกับ บุตรชายและบุตรสาวของพระองค์ได้ คือเป็นสมาชิกครอบครัวของพระองค์ ซึ่งมีพระเยซู พระบุตรองค์เดียวของพระองค์เป็นศีรษะ

 

การสำนึกบาปและการกลับใจมาเชื่อพระเจ้า

ตอนนี้เรารู้จักคำสองคำในพระคัมภีร์ดีขึ้นแล้ว ซึ่งพบได้ในคำขอร้องของอัครสาวกเปโตร ถึงชาวเยรูซาเล็มไม่นานหลังจากพระเยซูเสด็จขึ้นสู่สวรรค์แล้ว คือ

เหตุฉะนั้นท่านทั้งหลายจงหันกลับและตั้งใจใหม่เพื่อพระเจ้าจะทรงลบล้างความผิดบาปของท่านเสีย เพื่อวาระพักผ่อนหย่อนใจจะได้มาจากพระพักตร์พระเจ้า (กิจการ3:19)  

ช่างน่าเสียดายที่คำสำคัญสองคำนี้ คือ การสำนึกบาป และ การกลับใจมาเชื่อพระเจ้าถูกใช้อย่างผิดๆในสมัยใหม่ การสำนึกบาปที่แท้จริงหมายถึง การเปลี่ยนความคิดใหม่นั่นคือเรื่องของความเข้าใจ เมื่อเราถามว่า แล้วเป็นการเปลี่ยนความคิดเรื่องอะไรละคำตอบจึงกระจ่างขึ้นจากสิ่งที่เราได้พิจารณาไปแล้ว  มันเป็นการเปลี่ยนความคิดเกี่ยวกับตัวเราเอง เป็นความเข้าใจถึงความล้มเหลวในการใช้ชีวิต ให้ได้ตามมาตราฐานที่พระเจ้าทรงออกแบบไว้ให้เรา ผ่านคำทางศาสนศาสตร์สองคำ คือ พวกเราเป็นคนบาป   จากนั้นจึงกระทำตามพระบัญชาที่ว่า จงกลับใจมาเชื่อพระเจ้า ซึ่งหมายความว่า หันหลังแล้วเดินกลับนี่คือผลในทางปฏิบัติของการสำนึกบาปที่แท้จริง มันคือการตระหนักว่าเราจำเป็นต้องปรับเปลี่ยนทิศทางชีวิตเสียใหม่ โดยใช้ชีวิตให้สอดคล้องกับพระประสงค์ของพระเจ้าและพระบัญชาของพระคริสต์มากขึ้น

แต่เปโตรก้าวไปอีกขั้นเมื่อสาสน์ของท่านถึงชาวเมืองเยรูซาเล็ม

จงกลับใจใหม่และรับบัพติศมา{พิธีใช้น้ำเป็นสัญลักษณ์เล็งถึงการที่พระเจ้าทรงให้อภัยคนบาป}ในพระนามแห่งพระเยซูคริสต์สิ้นทุกคน เพื่อพระเจ้าจะทรงยกความผิดบาปของท่านเสีย (กิจการ 2:38) 

เหตุผลที่เปโตรได้เพิ่มคำสั่งเรื่องบัพติศมาเข้าไปด้วยดูจะกระจ่างขึ้น เมื่อเรารู้ว่าในสมัยของพระเยซูและอัครสาวกนั้น การให้บัพติศมาจะกระทำโดยการให้ร่างกายทั้งหมดจมลงไปในน้ำ ความหมายที่แท้จริงได้รับการอธิบายโดยอัครสาวกเปาโลในจดหมายถึงชาวโรมัน ท่านกล่าวว่าท่านไม่รู้หรือ

ว่าเราทั้งหลายที่ได้รับบัพติศมาเข้าในพระเยซูคริสต์ ก็ได้รับบัพติศมานั้นเข้าในความตายของพระองค์ เหตุฉะนั้นเราจึงถูกฝังไว้กับพระองค์แล้ว โดยการรับบัพติศมาเข้าส่วนในการตายนั้น (6:3-4 , R.V.)

หรือที่ท่านเขียนไปถึงชาวเมืองโคโลสีว่า

และได้ถูกฝังไว้กับพระองค์ในพิธีบัพติศมาแล้ว…” (2:12)

 แต่แน่นอนว่ามีแต่คนตายเท่านั้นที่ถูกฝัง ไม่ใช่คนที่ยังมีลมหายใจ นั่นคือสิ่งที่เปาโลพูดต่ออย่างไม่ผิดเพี้ยน ท่านได้เตือนผู้เชื่อชาวเมืองโคโลสีถึงธรรมชาติของพวกเขาก่อนที่พวกเขาจะมาเชื่อฟังพระคำของพระเจ้า

และท่านที่ตายแล้วด้วยการละเมิดทั้งหลายของท่านและด้วยเหตุที่เนื้อหนังของท่านมิได้เข้าสุหนัต... (ข้อ 13)

 

ถูกฝังไว้...และถูกชุบให้เป็นขึ้น

ความหมายนั้นก็ชัดเจน พวกเขาไม่ต่างจากตายแล้วในสายพระเนตรของพระเจ้า เพราะความต้องการตามธรรมชาติ ของเนื้อหนังพวกเขาไม่ได้ถูกควบคุมเลย  พวกเขา ไม่มีความหวังและโอกาส มีแต่ความตายที่รออยู่ พวกเขาต้องตระหนักถึงความจริงเกี่ยวกับตัวเขาเองข้อนี้ แล้วดำลงไปในน้ำในขณะที่รับบัพติศมา  ดั่งจมดิ่งลงสู่ความตายของพวกเขา โดยระลึกว่าการพิพากษาของพระเจ้าต่อความบาปนั้นเที่ยงธรรม และแน่นอนว่าพวกเขาสามารถขึ้นจากน้ำอีกครั้งพร้อมด้วยเป้าหมายใหม่ในชีวิต

“…เพื่อว่าเมื่อพระคริสต์ได้ทรงถูกชุบให้เป็นขึ้นมาจากความตาย โดยเดชพระสิริของพระบิดาแล้ว เราก็จะได้ดำเนินตามชีวิตใหม่ด้วยเหมือนกัน (โรม 6:4) 

หรืออย่างที่ท่านได้เสริมให้ชาวโคโลสีฟังว่า

และ(เมื่อท่าน)ได้ถูกฝังไว้กับพระองค์ในพิธีบัพติศมาแล้ว และในพิธีนั้นท่านได้ฟื้นขึ้นมาจากตายกับพระองค์…” (2:12)

การเปรียบเทียบนั้นก็ชัดเจน เมื่อพระเยซูทรงเป็นขึ้นจากความตายสู่ชีวิตแบบใหม่ เป็นพระธรรมชาติที่เป็นอมตะ ดังนั้นผู้เชื่อในพระองค์ก็จะขึ้นจากน้ำแห่งบัพติศมาสู่ชีวิตใหม่เช่นกัน ผู้เชื่อคนนั้นยังคงมีธรรมชาติเดิมอย่างที่เคยเป็นมา แต่ทัศนคติของเขาได้เปลี่ยนไปแล้ว เขาตระหนักแล้วว่าถ้าเขายังใช้ชีวิตเพื่อสนองความต้องการตามธรรมชาติของตัวเองเรื่อยไป เขาจะต้องจบลงที่ความตายนิรันดร์ แต่ตอนนี้เขาได้มีจุดมุ่งหมายใหม่แล้ว นั่นคือ พระประสงค์ของพระเจ้าและพระบัญญัติของพระคริสต์

นั่นคือสิ่งที่พระเยซูกล่าวถึงเมื่อพระองค์ตรัสกับนิโคเดมัสว่า ท่านทั้งหลายต้องบังเกิดใหม่ (ยอห์น 3:7) อัครสาวกเปาโลช่วยอธิบายว่าการเกิดใหม่ในทางปฏิบัติเป็นอย่างไร

เหตุฉะนั้นอย่าให้บาปครอบงำกายที่ต้องตายของท่าน ซึ่งทำให้ต้องเชื่อฟังตัณหาของกายนั้น

เพราะว่าบาปจะครอบงำท่านทั้งหลายต่อไปก็หามิได้ (โรม 6:12, 14)

กล่าวได้อีกอย่างหนึ่งว่า คุณต้องไม่ยอมให้ความปรารถนาตามธรรมชาติของคุณเข้าครอบงำคุณและเอาตัวคุณเป็นทาส แต่ท่านกลับกล่าวว่า

จงถวายตัวของท่านแด่พระเจ้าเหมือนหนึ่งคนที่เป็นขึ้นมาจากความตายแล้ว... (ข้อ 13)

ดังนั้นผู้เชื่อที่มีความจริงใจจะต้องเปลี่ยนนายของเขาเสีย เพราะเขาได้ เปลี่ยนใจแล้ว ซึ่งก็คือการกลับใจในความหมายของพระคัมภีร์นั่นเอง เขามีชีวิตใหม่เพราะเขามีมุมมองใหม่ นี่แหละคือการที่เขาได้บังเกิดใหม่อัครสาวกแสดงให้เห็นว่านี่คือการเปลี่ยนเป็นอีกคนหนึ่งซึ่งต่างไปเลย  

ท่านจงทิ้งตัวเก่าของท่านซึ่งคู่กับวิถีชีวิตเดิมนั้นเสีย... และจงให้วิญญาณจิตของท่านเปลี่ยนใหม่...และให้ท่านสวมสภาพใหม่ (เอเฟซัส 4:22-24)

และพระองค์ได้ทรงวายพระชนม์เพื่อคนทั้งปวงเพื่อคนเหล่านั้นที่มีชีวิตอยู่จะมิได้อยู่เพื่อประโยชน์แก่ตัวเองอีกต่อไป  แต่จะอยู่เพื่อพระองค์ผู้ทรงสิ้นพระชนม์และทรงเป็นขึ้นมาเพราะเห็นแก่เขาทั้งหลาย...เหตุฉะนั้นถ้าผู้ใดอยู่ในพระคริสต์ผู้นั้นก็เป็นคนที่ถูกสร้างใหม่... (2 โครินธ์ 5:15, 17, R.V.)

 

ชีวิตใหม่

ดังนั้นการรับบัพติศมา อย่างที่ปรากฏในพระคัมภีร์จึงเป็นเหตุการณ์ที่สำคัญที่สุดเหตุการณ์หนึ่ง  ผู้เชื่อจึงจะตระหนักได้ว่าพวกเขาต้องการการช่วยให้รอดจากความตาย  และในขณะเดียวกันก็เป็นเครื่องแสดงความปรารถนาของเขาที่จะมีชีวิตอยู่กับจิตวิญญาณของพระคริสต์ เขาได้เดินทางสู่หนทางแห่งชีวิตใหม่ ด้วยความเชื่อที่ว่าพระเจ้าจะรับเขาไว้เป็นหนึ่งในบุตรของพระองค์  ทุกสิ่งที่กล่าวมาคือสิ่งที่ทารกอายุไม่กี่วันมิอาจจะทำได้ เพราะเด็กคงไม่อาจจะเข้าใจและตอบสนองได้ และก็ไม่สามารถให้คนอื่นมากระทำแทนได้  ในพระคัมภีร์มีกล่าวไว้ว่าไม่อาจมีใครมาสำนึกผิดแทนใครได้ เราจำเป็นต้อง อุตส่าห์ประพฤติเพื่อให้ได้ความรอด(ฟิลิปปี 2:12) ไม่มีใครอื่นจะมาทำแทนเราได้

นี่เป็นเหตุผลว่าทำไมจึงไม่มีการให้บัพติศมาแก่ทารกในพระธรรมใหม่ ทุกคนที่รับบัพติศมาล้วนแต่เป็นผู้ใหญ่ทั้งสิ้น ซึ่งล้วนแล้วแต่เข้าใจถึงจุดประสงค์ของการให้รับบัพติศมา ในบันทึกของคริสตจักรในยุคแรกๆ ไม่มีการกล่าวอ้างถึงการให้บัพติศมาแก่ทารกในช่วง 150 ปี หลังพระเยซูทรงบังเกิด เรื่องราวของจัสตินผู้เป็นมรณะสักขี (เสียชีวิตเมื่อปี 165 หลังพระเยซูทรงบังเกิด) พิสูจน์ให้เห็นอย่างเด่นชัดว่าสิ่งนี้กระทำได้เฉพาะผู้ใหญ่เท่านั้น

หลายคนที่ได้รับการชักชวนและมาเชื่อว่าสิ่งที่เราสอนสั่งและกล่าวไว้เป็นความจริง และสัญญาว่าจะประพฤติตนตามที่เชื่อนั้น ก็ถูกกำชับให้อธิษฐาน...เพื่อการยกโทษบาปของพวกเขา...(เรา) ได้เป็นบุตรที่ทรงเลือกและเป็นผู้มีความรู้และได้รับการยกโทษบาปในน้ำนั้น…(ผู้เชื่อ) จะเป็นผู้เลือกที่จะบังเกิดใหม่และเลือกที่จะสำนึกบาปของตัวเอง (Ante-Nicene Christian Library, ฉบับที่ 2 หน้า 59)

เทอร์ทูเลียน (ประมาณ 200 หลังพระเยซูทรงบังเกิด) ได้รับการกล่าวขวัญว่าเป็นคนแรกในประวัติศาสตร์ที่ได้กล่าวถึงการให้บัพติศมาแก่ทารก ท่านเป็นผู้ที่ได้ชื่อว่าเป็นผู้ถือรักษาธรรมเนียมของอัครสาวกไว้อย่างเหนียวแน่น ฉะนั้นการที่ท่านเขียนประณามถึงความนิยมในการให้ทารกรับบัพติศมาที่เพิ่มมากขึ้นนี้จึงสำคัญมาก  Neander นักประวัติศาสตร์ (Church History ฉบับที่ 1 หน้า 425) กล่าวว่า ท่านเป็นคู่ต่อสู้ผู้กระตือรือร้นของความนิยมดังกล่าวนี้

 

การให้ทารกรับบัพติศมาไม่ถูกต้องตามหลักในพระคัมภีร์

ตลอดหลายๆศตวรรษตั้งแต่สมัยนั้น โดยเฉพาะตั้งแต่มีการรื้อฟื้นความสนใจในการสอนพระคัมภีร์ขึ้นใหม่ในสมัยการปฏิรูปศาสนาในศตวรรษที่ 16 การให้ทารกรับบัพติศมาเป็นสิ่งที่ถกเถียงกันอย่างมาก พระศาสนจักรคาทอลิกตัดสินว่าการให้ศีลบัพติศมาแก่ทารกเป็นสิ่งที่กระทำได้เพราะเป็นธรรมเนียมที่พระศาสนจักรปฏิบัติมานาน กล่าวคือ เป็นพื้นฐานความเชื่อที่ไม่มีภูมิหลัง หลายคนเชื่อว่าเด็กจะได้รับการช่วยให้รอดจากนรกด้วยพิธีศีลนี้ และ และได้ถูกสร้างใหม่โดยพระวิญญาณบริสุทธิ์เป็น การสร้างใหม่อันศักดิ์สิทธิ์ อย่างที่เรียกกัน คำสอนนี้ไม่อาจหาพบได้ในพระคัมภีร์และนับเป็นกรณีที่ชัดเจนมากของ การทรงไถ่ผ่านทางพิธีกรรม ซึ่งเป็นสิ่งที่ตรงข้ามกับการให้รับบัพติศมาในพระคัมภีร์อย่างสิ้นเชิง

ดร. แอล แลงจ์ นักเทววิทยาชั้นนำชาวเยอรมัน กล่าวไว้อย่างชัดเจนว่า

ต้องเป็นที่ยอมรับโดยผู้อ่านที่ไม่มีอคติต่อพระคัมภีร์และธรรมเนียมปฏิบัติของคริสเตียนอย่างแน่นอนว่า   การให้ศีลบัพติศมาแก่ทารกเป็นสิ่งที่คริสตศาสนาในยุคแรกไม่รู้จักเลย (ประวัติศาสตร์นิกายโปรเตสแตนต์ หน้า 221)

ดีน สแตนลีย์ เขียนไว้ในบทความอีกอันหนึ่งว่า

การให้บัพติศมา มีความเกี่ยวข้องกับอัครสาวกและเป็นพิธีที่มีมาตั้งแต่โบราณ...ไม่เหมาะสมกับรสนิยม ความสะดวกและความรู้สึกของพวกทางเหนือและทางตะวันตก...มิใช่เพราะคำตัดสินของสภา...แต่โดยความรู้สึกทั่วไปอันเกิดจากอิสระเสรีภาพของคริสเตียน การเปลี่ยนแปลงขนานใหญ่นี้ (ไปสู่การให้บัพติศมาแบบพรมน้ำแก่เด็กทารก) ได้รับผลกระทบ...นับเป็นตัวอย่างที่น่าตกใจที่การตัดสินโดยใช้ความคิดความรู้สึกแบบพื้นๆมีชัยชนะต่อรูปแบบและธรรมเนียมปฏิบัติอย่างขาดลอย (นิตยสาร เดอะ ไนน์ทีนธ์ เซ็นจูรี รีวิว ฉบับเดือนตุลาคม ปี 1879)

กล่าวอีกอย่างก็คือ คริสตจักรได้เปลี่ยนรูปแบบของบัพติศมาแบบดั้งเดิมในพระคัมภีร์ไปเสีย ซึ่งเป็นรูปแบบที่ได้รับการยอมรับโดยอัครสาวกของพระเยซู เพียงเพราะพวกเขาเห็นว่ารูปแบบนั้นไม่สะดวกสบายหรือไม่เป็นที่ยอมรับหรือไม่ถูกรสนิยมคน

 

ความไม่แน่ใจ

ปฏิกริยาที่ปรากฏต่อสิ่งที่เราได้กล่าวถึงไปแล้วนั้นจะมีอยู่ด้วยกันสองรูปแบบ ซึ่งควรแก่การพิจารณา

ประการแรก คือ จะมีกลุ่มคนที่กล่าวว่า ฉันยอมรับว่าทั้งหมดนั่นเป็นความจริง แต่ฉันก็ไม่เห็นความจำเป็นที่จะต้องรับบัพติศมานี่ปัจจุบันทัศนคติดังกล่าวเกิดขึ้นมากมายกับผู้คนที่มองเห็นศาสนาเป็นสิ่งที่ยึดถือตามอารมณ์ หากพวกเขารู้สึกว่าตัวเองยังไม่พร้อม พวกเขาอาจจะสรุปเอาว่าตัวเองยังไม่พร้อมสำหรับการรับบัพติศมา

แต่ความเข้าใจนี้เป็นความเข้าใจที่ผิด เพราะสิ่งที่พระเจ้าทรงประสงค์จากเราตั้งแต่แรกก็คือการที่เราเตรียมใจของเราให้พร้อมที่จะทำความเข้าใจพระคำของพระองค์ แล้วจึงยอมรับสัจธรรมที่แฝงอยู่ในนั้นไว้ และตัดสินใจว่าจะพยายามและจะรับใช้พระองค์เท่านั้น ยังมีเหตุผลประการสำคัญอีกอย่างหนึ่งที่อธิบายว่าเพราะเหตุใดวิธีนี้จึงเป็นวิธีที่ใช้กันมาโดยไม่เปลี่ยนแปลงสำหรับพระคำของพระเจ้า คนที่เข้าใจความจริงที่ยิ่งใหญ่บางประการแล้วตัดสินใจให้สิ่งนั้นมีอิทธิพลต่อชีวิตของเขา ตัวเขาก็จะเปลี่ยนแปลงไปเป็นอีกคนหนึ่ง  หากเขาดำเนินชีวิตตามหนทางนั้นต่อไปเรื่อยๅ เขาจะกลายเป็นคนที่ต่างไป เนื่องด้วย การฟื้นฟูจิตวิญญาณขึ้นใหม่อย่างที่เปาโลเรียก ความเปลี่ยนแปลงนั้นจะคงอยู่เสมอไป พระเจ้าจะสามารถใช้คนคนใหม่นี้ในการรับใช้ของพระองค์ได้ ทั้งในเวลานี้และในอนาคตที่จะมาถึง

 

พระบัญชาของพระเจ้า

แต่ในที่สุดแล้ว หากเรารู้ว่าพระบัญชาของพระเจ้าคือให้เรารับบัพติศมา เราก็ควรจะเชื่อฟังและกระทำสิ่งนั้น มิเช่นนั้นแล้วก็เท่ากับเรากำลังปฏิเสธพระคำของพระเจ้าอยู่กลายๆ ความซาบซึ้งใจอันเหลือคณาต่อสิ่งที่เราได้กระทำไปนั้น จะเกิดตามมาในภายหลัง เมื่อเราได้มีประสบการณ์ในชีวิตในเรื่องมุมมองต่อบาปในสายพระเนตรของพระเจ้า  แล้วเราจะเข้าใจ ความหอมหวานของพระคุณ(เอเฟซัส 1:7) ในการอภัยบาปของพระองค์ แต่ขั้นตอนที่สำคัญขั้นแรก ก็คือการถอมตัวลงต่อหน้าพระคำของพระองค์แล้วทำตามที่พระคำสอนไว้

แล้วก็มีผู้ที่กล่าวว่า ฉันก็เห็นด้วยว่าทุกสิ่งที่ว่านี้เป็นความจริง แต่ฉันมีชีวิตแบบนั้นไม่ได้หรอกโดยบอกเป็นนัยว่า ดังนั้นฉันเลยไม่อยากจะเริ่มต้นทำอะไรทั้งนั้นแน่นอน ขอให้เรามาพูดกันตรงๆ ว่านี่อาจเป็นเพียงแค่ข้ออ้างหนึ่งที่จะใช้หลบเลี่ยงพระบัญชาอันชัดเจน เพราะหากคนผู้นั้นยอมรับความจริงเรื่องบัพติศมาตามที่ระบุไว้ในพระคัมภีร์จริง การที่เขากล่าวเช่นนั้นก็เท่ากับว่าเขากำลังปฏิเสธน้ำพระทัยของพระเจ้า

แต่ก็อาจเป็นได้ว่าเขาตระหนักรู้ถึงชีวิตแห่งความจริงและความเมตตาและความศักดิ์สิทธิ์ ซึ่งรวมอยู่ในการพยายามที่จะติดตามพระคริสต์ จึงรู้สึกว่าเขาคงไม่สามารถจะทำดีถึงขั้นนั้นได้ แล้วก็คงจะถูกพระเจ้าตัดสินว่าผิดในที่สุด ความคิดนี้มีที่มาจากความเข้าใจที่ผิดมหันต์ คือ ความเข้าใจที่ว่าพระเจ้าคาดหวังให้เรามีชีวิตที่สมบูรณ์แบบไร้ที่ติ เพราะว่าพระเจ้าทรงตระหนักดีถึงความอ่อนแอของธรรมชาติมนุษย์เรา ผู้นิพนธ์พระธรรมสดุดีได้กล่าวไว้อย่างน่าฟังในสดุดีบทที่ 103 ความว่า

เพราะว่าฟ้าสวรรค์สูงเหนือแผ่นดินเท่าใด ความรักมั่นคงของพระองค์ที่มีต่อบรรดาคนที่เกรงกลัวพระองค์ก็ใหญ่ยิ่งเท่านั้น...บิดาสงสารบุตรของตนฉันใดพระเจ้าทรงสงสารบรรดาคนที่ยำเกรงพระองค์ฉันนั้น เพราะพระองค์ทรงทราบโครงร่างของเรา พระองค์ทรงระลึกว่าเราเป็นแต่ผงคลี(ข้อ 11-14)

เราไม่ได้เผชิญหน้ากับเผด็จการเลือดเย็น แต่เป็นพระบิดาผู้ทรงเมตตา ผู้ซึ่งไม่ทรงปรารถนาให้มีผู้ใดต้องเสียชีวิตไป แต่ให้ทุกคนรอดและมา รู้จักความจริงและ กลับใจจากบาป(1 ทิโมธี 2:4; 2 เปโตร 3:9) สรุปว่าพระเจ้าทรงพร้อมที่จะอภัยความผิดพลาดทั้งหมดให้กับผู้ที่สารภาพความจริงออกมาและปรารถนาที่จะรับใช้พระองค์อย่างตั้งใจจริง พระเยซูจะเป็นคนกลางคอยช่วยอ้อนวอนพระบิดาแทนเรา เพราะพระองค์ประทับอยู่ด้านขวาของพระบิดาเป็นนิตย์

เราควรจะเชื่อวางใจในพระเมตตาคุณของพระเจ้าและตั้งใจที่จะเชื่อฟังพระบัญชาทั้งหลายของพระองค์ การรับบัพติศมาจะเป็นการตัดสินใจก้าวแรกอันเด็ดเดี่ยวมั่นคงของเรา

 

เอกสิทธิ์

การรับบัพติศมาของเราถือเป็นสัญลักษณ์ว่าเราได้เข้าใจ ความจริง อันเป็นการเปิดเผยน้ำพระทัยที่พระเจ้าทรงมีต่อเรา มันเป็นประตูที่เปิดไปสู่ชีวิตที่มีความหวังอย่างใหม่ นับเป็นวิธีการมองชีวิตแบบใหม่ของเรา เป็นหนทางใหม่ที่จะก้าวย่างไปในโลกแห่งความไม่แน่นอนและปัญหาสารพัน เป็นความหมายใหม่ของความเข้มแข็งในการตัดสินใจครั้งสำคัญของชีวิต เป็นการสร้างสันติกับพระเจ้าครั้งใหม่ ผู้ซึ่งทรง นำเรามาคืนดีกับพระองค์เองในพระเยซูคริสต์เพราะเมื่อเรามาเชื่อในพระคำของพระเจ้า สถานภาพของเราจึงเปลี่ยนไป คือ เราไม่ได้ถูกตัดขาดจากพระเจ้าเพราะบาปของเรา แต่ได้เป็นบุตรชายหญิงซึ่งแสนจะมีค่าในสายพระเนตรพระองค์ และเป็นทายาทแห่งอาณาจักรที่พระเยซูจะทรงสถาปนาขึ้นบนโลกเมื่อพระองค์เสด็จกลับมา

ช่างเป็นความหวังอันยิ่งใหญ่ที่เราไม่ควรโยนทิ้งไปอย่างไม่ใยดี

เฟรด เพียร์ส (ผู้แต่ง)