คริสเตียนจำเป็นต้องมีนักบวชหรือไม่

           คำสอนในพระคัมภีร์เกี่ยวกับโครงสร้างของคริสตจักร

Do Christians need priests?

 

 

 

สำหรับหลายต่อหลายคน องค์กรและทำเนียมปฏิบัติในศาสนากลับกลายเป็นอุปสรรคขวางกันผู้คนไว้มิให้เข้าถึงซึ่งความเชื่อศรัทธาอันแท้จริง การเชื่อว่าบุคคลสามารถนมัสการพระเจ้าจากใจได้ ไม่ว่าจะอยู่ในป่าดงพงพีหรือบนขุนเขาน้อยใหญ่ต่างๆ แสดงให้เห็นถึงพลังอำนาจแห่งการสร้างสรรค์อันมหัศจจรรย์ของพระองค์ได้อย่างชัดเจน คนเหล่านี้จะหลีกเลี่ยงเสื้อผ้าที่หรูหราและสถานที่อันโอ่อ่าตระการตา  แต่เมื่อมีการเสนอความคิดว่าการนมัสการพระเจ้าต้องอาศัยคนกลางที่เป็นมนุษย์คอยเป็นสื่อให้และต้องเป็นไปตามพิธีการแบบที่กำหนดไว้เท่านั้น ความกลัวของพวกเขาก็กลับกลายเป็นความจริง  การปกครองตามลำดับชั้นของนักบวช (พระคาร์ดินัล อาร์คบิชอป บิชอป พระประจำวัด และอื่นๆ) นั้นก่อให้เกิดความสับสนต่อพวกเขาและยังแสดงให้เห็นด้วยว่ามีผู้ที่มานมัสการ 2 ประเภท คือ นักบวชและฆราวาส และมีแนวโน้มว่าผู้ที่อ้างตัวว่าได้รับการเจิมโดยพระเจ้านั้นจะเป็นผู้ที่ได้รับสิทธิพิเศษมากกว่าคนทั่วไป

 

บรรดาศาสนิกชนต่างให้เหตุผลว่านักบวชและคริสตจักรต่างก็ทำหน้าที่ในนามของพระเจ้า พวกเขาต่างก็ช่วยแปลและตีความพระบัญญํติของพระเจ้าที่ทรงประทานให้แก่มนุษย์ มีแต่พวกนักบวชเท่านั้นที่จะสามารถอวยพรขนมปังและเหล้าองุ่นได้ ซึ่งจะต้องถูกแจกจ่ายให้แก่บรรดาผู้ที่มานมัสการเพื่อเป็นการระลึกถึงการสละพระชนม์ชีพของพระคริสต์ พวกเขาอ้างว่านักบวชในปัจจุบันคือทายาทอันแท้จริงขององค์พระเยซูคริสตเจ้าและของบรรดาอัครสาวกและพระเจ้าทรงตรัสผ่านคริสตจักรอย่างที่ทรงตรัสผ่านบรรดาผู้เผยพระวจนะและอัครสาวกในสมัยศตวรรษแรกๆ   

 

เราได้ข้อสรุปใดจากคำกล่าวอ้างข้างต้นบ้าง พระเจ้าได้ทรงบัญชาว่ามนุษย์จะมานมัสการพระองค์ได้ ต้องผ่านคนกลางที่เป็นนักบวชเท่านั้นหรือ มนุษย์ในปัจจุบันมีสิทธิที่จะพูดแทนพระเจ้าหรือไม่ และมีผู้นมัสการพระเจ้าอยู่ 2 ประเภทคือ นักบวชและฆราวาสหรือ

 

ผู้ทรงอำนาจที่เชื่อถือได้  

เพื่อที่จะตอบคำถามข้างต้นได้ เราจำเป็นต้องอ้างสถาบันอันทรงอำนาจและมีความน่าเชื่อถือ เป็นที่วางใจตลอดช่วงเวลาอันยาวนาน นักบวชเริ่มการประกาศสั่งสอนโดยอ้างถึงอำนาจที่พวกเขาเชื่อว่าได้รับมาจากศาสนจักรของพวกเขา ส่วนศาสนจักรเองก็อ้างว่ารับอำนาจมาจากพระเจ้าโดยตรง แต่เราจะไม่ใส่ใจกับสิ่งที่เป็นเพียงแค่คำกล่าวอ้างลอยๆ เพราะเราต้องการหลักฐานที่เชื่อถือได้

 

พระเจ้าไม่ทรงผันแปร

แต่เดิมที มีหลักฐานแสดงถึงคำทำนายที่กลายเป็นความจริงแล้ว  (สำหรับข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับเรื่องนี้ โปรดหาอ่านได้จากแผ่นพับในชื่อชุด คำทำนายในพระคัมภีร์ )

 

ถ้าในหมู่พวกท่านเกิดมีผู้เผยพระวจนะ...ถ้าเขากล่าวว่าให้เราติดตามพระอื่นกันเถิด (ซึ่งเป็นพระที่ท่านไม่รู้จัก) และให้เรามาปรนนิบัติพระนั้น ท่านอย่าเชื่อฟังคำของผู้เผยพระวจนะหรือผู้ฝันเห็นเหตุการณ์คนนั้น เพราะพระเยโฮวาห์พระเจ้าของท่านลองใจท่านดู เพื่อให้ทรงทราบว่าท่านทั้งหลายรักพระเยโฮวาห์พระเจ้าของท่านด้วยสุดจิตสุดใจของท่านหรือไม่ (เฉลยธรรมบัญญัติ 13:1-3)

 

ลองพิจารณาดูว่าข้อความข้างต้นนั้นมีนัยสำคัญเพียงใด ในอดีตพระเจ้าทรงเปิดเผยพระองค์เองผ่านชายหญิงเป็นบางคน คำพูดของพวกเขาต้องพิสูจน์ได้ เรื่องในอนาคตที่พวกเขาพูดถึงจะต้องเกิดขึ้นจริงหากพวกเขาพูดแทนพระเจ้าอย่างแท้จริง ยิ่งไปกว่านั้น หากสิ่งที่พวกเขาพูดกลับไปขัดแย้งกับสารของพระเจ้าที่ทรงตรัสไว้ก่อนหน้านั้น พวกเขาก็จะเป็นผู้เผยพระวจนะเทียมเท็จไปในทันที เนื่องด้วยพระเจ้าไม่ทรงผันแปร สิ่งนี้ก่อให้เกิดหลักการสำคัญ นั่นคือ พระเจ้าทรงเผยแสดงพระประสงค์ของพระองค์ที่ทรงมีต่อมนุษย์ และความจริงข้อนี้สามารถพิสูจน์ให้เห็นจริงได้โดยอาศัยการทดสอบที่พระองค์ทรงจัดเตรียมไว้   ผู้ใดก็ตามที่สั่งสอนอยู่ในปัจจุบันและคำสอนนั้นกลับขัดแย้งกับคำสอนที่พระเจ้าทรงตรัสสอนไว้ก็ไม่อาจอ้างว่าตัวเขาเองได้สั่งสอนโดยอำนาจที่มาจากพระเจ้า ดังนั้นพระคริสตธรรมคัมภีร์จึงเป็นสิ่งสำคัญที่บอกกล่าวถึงที่มาของอำนาจทางศาสนาในทุกวันนี้ เพราะมันเป็นพระคำอันมีชีวิตของพระเจ้า

 

ข้อสงสัยเรื่องอำนาจนี้เป็นเรื่องที่สำคัญมากต่อการพิจารณาของเรา ผู้เชื่อในพระคริสต์ที่แท้จริงจะยอมรับที่มาแห่งอำนาจเพียงหนึ่งเดียว นั่นคือ พระคำของพระเจ้า  พระคริสต์ทรงเป็น พระวาทะได้ทรงบังเกิดเป็นมนุษย์(ยอห์น 1:14) พระองค์ทรงเห็นพ้องกับพระคำของพระบิดาเสมอและไม่เคยสั่งสอนสิ่งใดที่ขัดแย้งกับพระคำของพระบิดาเลย 

ผู้ที่ติดตามพระองค์เองก็ต้องมุ่งหวังในสิ่งเดียวกันนี้ด้วย ดังนั้นให้เรามาศึกษาพระคำของพระเจ้าเพื่อที่จะทราบถึงเรื่องการเป็นนักบวชและโครงสร้างทางศาสนาของผู้ที่เชื่อในพระคริสต์ ด้วยสิ่งนี้ เราจะสามารถพิสูจน์ถึงข้ออ้างของสมาชิกคริสตจักรและข้ออ้างของคริสตจักรเองด้วย

 

การเป็นนักบวชในสมัยพันธสัญญาเดิม  

ในสมัยเริ่มแรกแห่งพระคัมภีร์ พระเจ้าทรงถ่ายทอดพระคำของพระองค์โดยตรงกับชายและหญิงบางคนโดยผ่านบรรดาฑูตสวรรค์ของพระองค์ พระองค์มิได้ทรงบัญชาให้มีการออกบวชเป็นนักบวช ตราบจนกระทั่งภายหลังจากที่ลูกหลานของยาโคบได้รับการปลดปล่อยให้เป็นอิสระจากการเป็นทาสในแผ่นดินอียิปต์ซึ่งเป็นแผ่นดินที่นับถือพระอื่น และเดินทางมาถึงยังแผ่นดินคานาอันภายใต้การนำของโมเสส ในช่วงเวลา40 ปีแห่งการรอนแรมในทะเลทราย พวกเขาได้รับการหล่อหลอมให้กลายเป็นชนชาติที่นับถือศาสนาเดียวกัน สตีเฟนกล่าวกับผู้นำชาวยิวทั้งหลายในครั้งนั้นเกี่ยวกับ ชุมนุมชนในถิ่นทุรกันดารภายใต้การนำของโมเสส ผู้ซึ่งพระเจ้าได้ทรงประทานกฏหมายไว้ให้ใช้ปกครองกันในชาติ (กิจการ 7:38)  

 

คริสตจักร ไม่ใช่อาคารพิเศษที่ใช้นมัสการพระเจ้า แต่เป็นคำที่ใช้เรียกกลุ่มคนที่แยกตัวออกมาเพื่อติดตามพระเจ้า เนื่องจากในปัจจุบัน คำนี้ถูกใช้ในความหมายของอาคารสิ่งก่อสร้างเสียเป็นส่วนใหญ่ การได้ทราบถึงที่มาของคำนี้อาจช่วยให้เราเข้าใจความหมายของมันมากขึ้นกว่าที่เป็นอยู่ทุกวันนี้ ในพระธรรมภาคพันธสัญญาใหม่ใช้คำว่า Ekklesia ซึ่งเป็นคำภาษากรีก ส่วนคำว่า congregation” ในภาษาอังกฤษเป็นคำแปลที่ดีของคำนี้ หมายถึงกลุ่มคนที่รวมตัวกันเพื่อจุดมุ่งหมายพิเศษอย่างใดอย่างหนึ่ง กลุ่มคำที่ว่า congregation in the wilderness”  จึงประกอบด้วยประชากรของพระเจ้า กฏหมายทั้งหลายของพวกเขาก็แฝงไว้ด้วยจุดมุ่งหมายทางจิตวิญญาณ และจะต้องได้รับการถ่ายทอดจากรุ่นสู่รุ่นโดยผู้แทนของพระเจ้า ซึ่งพระองค์ทรงเลือกเอาเผ่าเลวีจากเผ่าทั้งหมด 12 เผ่าให้ทำหน้าที่นี้

 

เหตุผลที่ทรงเลือกเผ่าเลวีนั้นเป็นสิ่งที่สำคัญมาก โมเสสถูกเรียกให้ขึ้นไปยังภูเขาลูกหนึ่งเพื่อไปรับกฏหมายของชาติของท่าน ในระหว่างที่ท่านไม่อยู่ที่ค่ายนั้นเอง ประชาชนก็จัดงานรื่นเริงขึ้น ในระหว่างงานฉลองนั้น พวกประชาชนได้มอบอัญมณีมีค่าและทองคำแก่พี่ชายของโมเสสผู้ซึ่งมีชื่อว่า อาโรน และอาโรนได้หล่อวัวทองคำขึ้นตัวหนึ่ง เป็นอย่างรูปพระอื่นๆที่พวกเขาเคยบูชากันในอียิปต์ เมื่อโมเสสลงจากภูเขา จึงแลเห็นฝูงชนกำลังเฉลิมฉลองรูปเทพเจ้าองค์ใหม่ที่เพิ่งหล่อขึ้นนั้น ก็เกิดความเสียใจสุดประมาณ ท่านร้องตะโกนออกไปทันทีว่า ผู้ใดอยู่ฝ่ายพระเจ้า... ท่านต้องการที่จะชำระล้างใจของผู้คนที่กำลังสนุกสุดเหวี่ยงซึ่งเลิกนมัสการพระเจ้าและหันไปนมัสการรูปวัวทองคำนั้น

 

บุตรทั้งหลายของเผ่าเลวีรีบตอบทันที โมเสสจึงพูดกับพวกเขาว่า ในวันนี้ท่านทั้งหลายจงสถาปนาตัวเองรับใช้พระเจ้า (อพยพ 32: 29) ชนเผ่าเลวีจึงเริ่มรับผิดชอบในการสั่งสอนชนชาตินี้ให้รู้จักเรื่องราวและหนทางของพระเจ้านับแต่นั้นเป็นต้นมา ชนชาตินี้เองก็ได้แสดงความอ่อนแอให้ปรากฏและแสดงถึงแนวโน้มที่จะหันหลังให้พระเจ้าอยู่เสมอ ชนเผ่าเลวีกลับได้แสดงความซื่อสัตย์จงรักภักดีต่อพระเจ้าแม้ในเวลาที่ถูกทดลองใจและบัดนี้พวกเขาต้องตัดสินอย่างที่พระเจ้าทรงกระทำผ่านชีวิตของพวกเขาเองเพื่อเห็นแก่ประโยชน์ของผู้อื่น พวกเขาต้องทำหน้าที่เป็นดั่งคนกลางที่เชื่อมระหว่างประชาชนที่ไร้ความเชื่อศรัทธากับ พระเจ้าแห่งความเมตตา ผู้ทรงไว้ซึ่งความศักดิ์สิทธิ์

 

มนุษย์ซึ่งแยกตัวออกจากพระเจ้า    

พระเจ้าทรงแสดงให้เห็นว่าพระองค์เข้ามาเกี่ยวพันกับชนชาติอิสราเอลอย่างใกล้ชิดเมื่อพระสิริของพระองค์สถิตอยู่กับพลับพลาเคลื่อนที่นั้น และในภายหลังได้สถิตอยู่ในพระวิหารซึ่งเป็นศาสนสถานอันมั่งคง ซึ่งได้กลายเป็นศูนย์กลางแห่งการนมัสการในกาลต่อมา สำหรับสถานที่ซึ่งถือได้ว่าศักดิ์สิทธิ์ที่สุดอย่างที่พวกเขาเรียกนั้น เป็นที่ที่ไม่ใช่ใครๆจะเข้าไปได้ เพราะนี่เป็นห้องที่ได้รับการสร้างขึ้นเพื่อถวายแก่พระเจ้าโดยเฉพาะ แม้ว่าพระองค์จะสถิตอยู่ท่ามกลางประชากรของพระองค์ ความบริสุทธิ์ศักดิ์สิทธิ์ของพระองค์กับความบาปชั่วของมนุษย์ไม่อาจเข้ากันได้ ความบาปนี้กลับกลายเป็นสิ่งที่ขวางกั้นมนุษย์ออกจากพระองค์ ดังนั้นในหนึ่งปีจะมีเพียงวันเดียวเท่านั้นที่มหาปุโรหิตจะได้รับอนุญาตให้เข้าไปในห้องนี้ได้ภายหลังจากที่ได้ผ่านการเตรียมตัวอันเคร่งครัดรอบคอบดีแล้ว

 

โดยอาศัยการสังเวยและพลีบูชาที่ระบุไว้ตามกฏหมายของชนชาตินี้ และอาศัยนักบวชที่มาประกอบพิธี ประชาชนจึงได้ระลึกถึงความศักดิ์สิทธิ์ของพระเจ้า และระลึกได้ว่าการจะเข้าไปเฝ้าพระเจ้านั้นต้องทำอย่างจริงใจและสม่ำเสมอ จะเป็นอื่นไปมิได้ หัวหน้านักบวชจะสวมใส่เครื่องประดับหน้าผากที่เป็นแผ่นทองคำเล็กๆซึ่งมีคำจารึกไว้ว่า บริสุทธิ์แด่พระเจ้า (อพยพ 28:36) เช่นเดียวกับการแต่งกายของนักบวช สิ่งเหล่านี้ต่างก็สะท้อนให้เห็นการเตรียมจิตใจให้พร้อมสำหรับทั้งนักบวชและประชาชนหากพวกเขาประสงค์จะให้พระเจ้าทรงพอพระทัย

เมื่อได้ศึกษาคำสอนในพระธรรมภาคพันธสัญญาเดิมอันเกี่ยวเนื่องกับนักบวชอย่างละเอียดแล้ว จะพบความจริงที่สำคัญดังต่อไปนี้

1.          พระเจ้าทรงบริสุทธิ์และศักดิ์สิทธิ์ มนุษย์จะเข้าหาพระองค์โดยตรงมิได้เพราะพวกเขามีบาป ไม่ว่าจะชายหรือหญิง

2.          ทูตสวรรค์ได้รับการคำสั่งจากพระเจ้าให้มาติดต่อกับมนุษย์

3.          การเป็นนักบวชเป็นพระบัญชาของพระเจ้าแก่มนุษย์ในครั้งที่มีกลุ่มคนที่ได้ถูกเตรียมไว้เพื่อนมัสการพระองค์  โดยอาศัยกฏหมายของพระองค์ พวกเขาได้กลายเป็นผู้ที่ควบคุมการนมัสการให้เป็นไปตามกฏของพระองค์

4.          นักบวชคือชายที่มาจากครอบครัวที่พระเจ้าทรงเลือก ซึ่งแยกตัวออกมาจากประชากรที่เหลือ

5.          ทั้งชายและหญิงซึ่งต้องการจะกลับใจจากบาปและรับการอภัย จำต้องอาศัยนักบวชในการช่วยพวกเขาถวายสัตวบูชา

6.          พระสิริของพระเจ้าสถิตอยู่ในส่วนในของพลับพลาที่ประทับและพระวิหาร มีแต่มหาปุโรหิตเท่านั้นที่จะเข้าไปเฝ้าพระองค์ได้ปีละครั้งหลังการเตรียมตัวพิเศษ

7.          นักบวชจะต้องรับการชำระล้างให้บริสุทธิ์ก่อนที่เขาจะมาทำหน้าที่เป็นคนกลางให้ประชาชนและเขาจะต้องถวายบูชาเพื่อชำระบาปของตัวเขาเองเสียก่อน

 

ความจริงอย่างสุดท้ายนี้สำคัญมาก เพราะแม้ว่าพวกเลวีได้แสดงถึงความซื่อสัตย์ของพวกเขาในเหตุการณ์วัวทองคำ พวกเขาก็มีบาปเช่นเดียวกับประชาชนที่เหลือ เมื่อประวัติศาสตร์ชาติอิสราเอลได้รับการเปิดเผยผ่านพระคัมภีร์ เราจึงทราบว่านักบวชมากมายมีส่วนร่วมในการกระทำผิดระดับชาติ เนื่องจากพวกเขามีหน้าที่หลักในการสั่งสอน แต่มีบ่อยครั้งที่พบว่าพวกเขากลับมีส่วนสำคัญในการนำชนชาตินี้ไปสู่การนมัสการแบบหลงผิด นักบวชแบบที่ประชาชนใฝ่หาอย่างแท้จริง คือ ผู้ที่เป็นตัวแทนพวกเขาได้ คือ มีความโน้มเอียงที่จะทำบาปผิดเช่นคนปกติทั่วไป แต่ก็ยอมเชื่อฟังพระบัญชาของพระเจ้าอย่างไม่ขาดตกบกพร่อง  คนเช่นนั้นคือผู้ที่มีคุณสมบัติที่จะเป็นพระสงฆ์หรือนักบวชได้ กล่าวคือ ได้รับเลือกโดยพระเจ้าและถูกแยกออกจากประชาชน

 

การเป็นนักบวชในพระธรรมภาคพันธสัญญาใหม่

อัครสาวกเปาโลได้แสดงความเห็นเกี่ยวกับกฏหมายที่พระเจ้าทรงประทานผ่านโมเสสไว้ในจดหมายถึงชาวกาลาเทียว่า ธรรมบัญญัติจึงควบคุมเราไว้จนพระคริสต์เสด็จมา เพื่อเราจะได้เป็นคนชอบธรรมโดยความเชื่อ(กาลาเทีย 3:24) ในทุกทางกฏหมายไม่อาจนำการไถ่บาปมาสู่มนุษยชาติที่เต็มไปด้วยความบาปได้ จึงจำเป็นต้องมีสัตวบูชาทุกครั้งที่มีคนทำผิดบาป สัตวบูชาเหล่านี้เป็นไปเพื่อให้มนุษย์ได้ระลึกว่าความบาปแยกพวกเขาออกจากพระเจ้า ไม่มีบัญญัติใดที่จะช่วยขจัดความบาปออกจากผืนโลกได้อย่างหมดจด ใครก็ตามที่พิจารณาความหมายของกฏหมายนี้ย่อมทราบถึงความจำเป็นอย่างเร่งด่วนที่จะต้องมีพระผู้ช่วยให้รอดจากความบาปมาช่วยเรา

 

ความจำเป็นเร่งด่วนนี้สำเร็จเป็นจริงได้เมื่อพระเยซูทรงบังเกิด พระองค์ได้รับพระนามนั้น อย่างที่ทูตสวรรค์ได้แจ้งแก่โยเซฟ สามีของนางมารีย์  ก็เพราะ ท่านเป็นผู้ที่จะโปรดช่วยชนชาติของท่านให้รอดจากความผิดบาปของเขา (มัทธิว 1:21) พระเยซูสามารถกระทำการที่นักบวชผู้ถือพระบัญญัติไม่อาจกระทำให้สำเร็จได้ จุดใดที่พวกเขาอ่อนแอ พระองค์ทรงเข้มแข็ง พระองค์เองก็เคยพบเจอกับสิ่งต่างๆที่ทำให้พวกเขาอ่อนแอมาแล้วเช่นกัน พระองค์ทรงรู้จักการล่อลวงที่พวกเขาเหล่านั้นต้องเผชิญ ซึ่งมนุษย์ก็มักจะยอมแพ้ให้แก่การล่อลวง ในขณะที่พระเยซูกลับไม่ทรงยอมตกเป็นทาสของสิ่งเหล่านั้น พระองค์ทรงมีกายที่เป็นเนื้อหนังเหมือนพวกเขาทุกประการ เป็นกายที่ทรุดโทรมไปตามกาลเวลา ตอบสนองอย่างรวดเร็วต่อความเหนื่อยล้า อาการบาดเจ็บ โรคภัยและท้ายที่สุดก็ต้องเผชิญกับความตาย  แต่แทนที่พระองค์จะมุ่งทำตามพระทัยของพระองค์ ตามอย่างวิถีธรรมชาติอันอ่อนแอของมนุษย์ทั่วไป พระองค์กลับทรงมอบดวงพระทัยของพระองค์ถวายแด่การงานของพระบิดาแห่งฟ้าสวรรค์ของพระองค์เอง ขณะที่ความบาปได้ขุดหลุมพรางไว้ดักมนุษยชาติ พระเยซูกลับไม่ทรงยอมแพ้ มนุษย์นั้นมักจะล้มเหลวอยู่เสมอ แต่พระเยซูกลับทรงมีชัยเหนือความบาปอย่างเด็ดขาด     

เพราะว่าทุกคนทำบาปและเสื่อมจากพระสิริของพระเจ้า คือ นิยามที่เปาโลใช้เรียกสถานะของมนุษย์ (โรม 3:23)แต่พระเยซูไม่ได้ทรงกระทำบาปเลยและไม่ได้ตรัสคำเท็จเลย(1เปโตร 2:22) ชัยชนะเหนือความบาปและความตายของพระองค์ปรากฏขึ้นอย่างชัดเจนเมื่อพระเจ้าทรงให้พระองค์เป็นขึ้นจากความตาย นั่นคือ ไม่ต้องพบเจอกับความตายอีก   พระองค์ทรงเป็น ปุโรหิตเป็นนิตย์(ฮีบรู 7:17)

 

ปุโรหิตผู้เพียบพร้อม

นี่คือบุคคลที่สมควรจะเป็นนักบวชมากที่สุด กล่าวคือ

1.          พระเยซูเสด็จเสด็จมาบังเกิดในโลกในฐานะของมนุษย์และทรงดำเนินชีวิตท่ามกลางชายและหญิงไม่ต่างจากเรา

2.          พระองค์ทรงเรียนรู้ที่จะเชื่อฟังพระบิดาผ่านการทนทรมานที่พระองค์ทรงยอมรับโดยเต็มพระทัย

3.          พระองค์ทรงมีชัยเหนือการทดลองใจทุกประการ ทรงดำเนินชีวิตที่ปราศจากบาปและทรงยินยอมพร้อมถวายพระชนม์ชีพของพระองค์เองอย่างเต็มพระทัยบนไม้กางเขน

4.          เพราะพระเยซูไม่สมควรจะต้องพบเจอกับความตาย พระเจ้าจึงทรงชุบชีวิตพระองค์ให้เป็นขึ้นจากอุโมงค์ฝังพระศพและทรงประทานพระธรรมชาติใหม่แก่พระองค์ซึ่งจะไม่มีวันดับสูญหรือตายอีกเลย บัดนี้พระองค์ทรงเป็นอมตะแล้ว ได้ทรงประทับและปกครองสวรรค์ร่วมกันกับพระเจ้า

5.          เพราะพระองค์ทรงมีความเป็นมนุษย์ร่วมกันกับเรา พระองค์จึงทรงเวทนาสงสารเรายิ่งนักที่ต้องพบเจอกับการทดลองและปัญหาต่างๆ

6.          เนื่องด้วยพระองค์เองทรงมีชัยเหนือการทดลองเหล่านั้นมาแล้ว พระองค์จึงสามารถประทานชัยชนะอย่างเดียวกันนี้ให้แก่ผู้ที่ยินดีที่จะเข้าส่วนกับพระองค์

 

องค์ประกอบเหล่านี้ได้แยกพระเยซูออกจากบุคคลอื่นๆที่เคยมีชีวิตอยู่ในโลกนี้มา เพราะคุณสมบัติเหล่านี้คือคุณสมบัติของการเป็นนักบวช นักบวชชาวยิวในสมัยของพระองค์น่าจะได้เห็นว่าพระองค์ทรงกระทำหน้าที่ของนักบวชได้ดีเพียงใด ขณะที่ตัวพวกเขาเองยังคงล้มเหลวในการปฏิบัติอยู่อย่างชัดเจน ด้วยความหยิ่งผยองอันมืดบอด พวกเขามองไม่เห็นสิ่งใดเลย และยังเข้าร่วมกับบรรดาผู้นำทั้งหลายของคณะนักบวชซึ่งตั้งใจจะสังหารพระองค์ เพราะพวกเขาควรจะรู้ดีกว่านี้ และควรจะมีความรับผิดชอบในฐานะนักบวชภายใต้กฏหมายอย่างจริงจังมากกว่าที่พวกเขาได้กระทำลงไป ด้วยเหตุนี้พระเยซูจึงทรงเรียกพวกเขาว่า คนนำทางตาบอด และ อุโมงค์ฝังศพซึ่งฉาบด้วยปูนขาว (มัทธิว 15:14; 23:27)  

พระองค์จึงทรงประนามความหน้าไหว้หลังหลอกของพวกเขาอย่างรุนแรง พระองค์ทรงเตือนผู้คนให้ระวังนักบวชเหล่านี้ เพราะพวกเขา ชอบสวมเสื้อยาวเดินไปมา ชอบให้คนคำนับกลางตลาด ชอบที่อันมีเกียรติในธรรมศาลาและในการเลี้ยง (ลูกา 20:46) ทัศนคติของพระเยซูที่ทรงมีต่อความหยิ่งยโสโอหังของพวกเขานั้นเป็นส่วนหนึ่งของคำตอบแห่งคำถามของเราเกี่ยวกับความเที่ยงธรรมในเรื่องระดับของผู้ที่นมัสการพระเจ้าทั้งสองระดับ ความนอบน้อมถ่อมใจ ไม่เย่อหยิ่งถือตัว เหล่านี้จะเป็นลักษณะของผู้ที่ติดตามพระคริสต์อย่างแท้จริง เพราะว่าทุกคนที่ได้ยกตัวขึ้นจะต้องถูกเหยียดลงและผู้ที่ถ่อมตัวลงนั้นจะได้รับการยกขึ้น (ลูกา 14:11) 

 

คริสตจักรที่แท้จริงซึ่งตั้งอยู่บนพื้นฐานของพระคัมภีร์ คือ การรวมกลุ่มของชายและหญิงโดยปราศจากลำดับชั้นทางสังคมหรือศาสนาเพื่อร่วมกันนมัสการพระเจ้า และสรรเสริญการสละพระชนม์ชีพของพระเยซูเพราะทรงเห็นแก่พวกเขา  พระองค์คือหนทางเดียวที่จะนำพวกเขาเข้าใกล้พระเจ้าได้เมื่อพวกเขาอธิษฐานถึงพระองค์

 

พระเยซูทรงกระทำให้กฏหมายของชาวยิวสำเร็จผลไปและพระองค์เองทรงสามารถกระทำหน้าที่แทนกฏหมายเหล่านี้ได้ กฏหมายคาดหวังให้พระองค์กระทำงานต่างๆของพระองค์ แต่จุดมุงหมายสำคัญของกฏหมายนั้นกลับไม่มีนักบวชเลวีคนใดกระทำให้สำเร็จได้

 

ความแตกต่างระหว่างพระคริสต์และกฏหมาย

1.          พระเยซูทรงได้รับการเลือกโดยพระเจ้าให้เป็นปุโรหิต ภายหลังจากที่อาโรนได้รับการแต่งตั้งให้เป็นปุโรหิตภายใต้กฏหมายของโมเสส ผู้ที่เป็นปุโรหิตจะต้องเป็นลูกชายคนโตของครอบครัวเท่านั้น ซึ่งจะดำรงตำแหน่งนี้ต่อจากบิดาของตนเมื่อบิดาเสียชีวิตลง  ดังนั้นพวกเขาจึงได้รับการเลือก โดยความประสงค์ของมนุษย์ มิใช่โดยพระประสงค์ของพระเจ้า พวกเขาจึงสามารถเข้าเฝ้าพระเจ้าได้เพียงปีละครั้งเท่านั้น แต่พระเยซูทรงพระชนม์อยู่เป็นนิตย์ พระองค์จึงสามารถประทับอยู่ต่อหน้าพระพักตร์พระเจ้าได้เสมอทุกเวลา

 

  ปุโรหิตเผ่าเลวีนั้นมีการสืบตำแหน่งกันหลายคนเพราะความตายขัดขวางไม่ให้เขาปฏิบัติงานได้ตลอดไป

 แต่พระเยซูนี้ทรงดำรงตำแหน่งปุโรหิตตลอดกาลเพราะพระองค์ทรงดำรงชีวิตอยู่เป็นนิตย์ ด้วยเหตุนี้พระองค์จึงทรงสามารถเป็นนิตย์ที่จะช่วยคนทั้งปวงที่ได้เข้ามาถึงพระเจ้าโดยทางพระองค์นั้นให้ได้รับความรอดเพราะว่าพระองค์ทรงพระชนม์อยู่เป็นนิตย์เพื่อช่วยทูลขอพระกรุณาให้คนเหล่านั้น (ฮีบรู 7:23-25)

 

2.         พระเยซูทรงยอมถวายพระชนม์ชีพของพระองค์เองให้เป็นพลีบูชา เพื่อไถ่โทษของมนุษย์ทั้งปวง ตามที่กฏหมายกำหนดไว้ พลีบูชานั้นจะต้องกระทำซ้ำแล้วซ้ำอีก นักบวชชาวยิวจะต้องสำนึกถึงความบาปของตัวเองก่อน โดยพวกเขาจะต้องถวายบูชาครั้งแรกเสียก่อนเพื่อพระเจ้าจะทรงโปรดชำระตัวเขาเองก่อน หลังจากนั้น เขาจึงจะสามารถทำหน้าที่ถวายบูชาแทนประชาชนได้  

 พระองค์ไม่ต้องทรงนำเครื่องบูชามาทุกวันๆดังเช่นมหาปุโรหิตอื่นๆผู้ซึ่งตอนแรกถวายสำหรับความผิดของตัวเองแล้วจึงถวายสำหรับความผิดของประชาชน ส่วนพระเยซูได้ทรงถวายเครื่องบูชาเพียงครั้งเดียวคือเมื่อพระองค์ได้ทรงถวายพระองค์เองต่อพระเจ้า (ข้อ 27)

3.         พระเยซูสามารถแทนที่กฏหมายนั้นได้ โดยการกระทำให้กฏหมายนั้นสัมฤทธิ์ผลไปและการเชื่อฟังพระประสงค์ของพระบิดาอย่างไม่มีข้อแม้

แต่พระคริสต์ทรงปฏิบัติพันธกิจอันประเสริฐกว่าของปุโรหิตเหล่านั้นอย่างกับพันธสัญญาซึ่งพระเจ้าทรงเป็นผู้กลางนั้นก็ประเสริฐกว่าพันธสัญญาเดิมเพราะว่าได้ทรงตั้งขึ้นโดยพระสัญญาทั้งหลายอันประเสริฐกว่าเก่า            เพราะว่าถ้าพันธสัญญาเดิมนั้นไม่มีข้อบกพร่องแล้วก็ไม่จำเป็นที่จะต้องมีพันธสัญญาที่สองอีก..เมื่อพระองค์ตรัสถึงพันธสัญญาใหม่พระองค์ทรงถือว่าพันธสัญญาเดิมนั้นพ้นสมัยไปแล้วสิ่งที่พ้นสมัยและเก่าไปแล้วนั้นก็จะเสื่อมสูญไป (ฮีบรู 8:6, 7,13)

4.         พระเยซูทรงมีชัยเหนือความบาป และผู้เชื่อที่แท้จริงก็จะได้รับการอภัยบาปเพราะชัยชนะของพระองค์

เพราะว่าพระคริสต์ไม่ต้องทรงถวายพระองค์เองซ้ำอีก ไม่เหมือนมหาปุโรหิตที่เข้าไปในวิสุทธิสถานทุกปีเพราะถ้าเป็นเช่นนั้นพระองค์คงจะต้องทรงทนทุกข์ทรมานหลายครั้งนับตั้งแต่สร้างโลกมา แต่ความจริงพระองค์ทรงปรากฏเพียงครั้งเดียวเท่านั้นในปลายยุคเพื่อกำจัดบาปให้หมดสิ้นไปโดยการถวายพระองค์เองเป็นเครื่องบูชา (ฮีบรู 9:24-26)

 

คนกลางเพียงหนึ่งเดียว

ฐานะการเป็นนักบวชของพระองค์นั้นไม่เหมือนผู้ใด และไม่มีมนุษย์ผู้ใดสามารถไปถึงจุดที่พระองค์ทรงกระทำจนสำเร็จนั้นได้ พระองค์ตรัสกับเหล่าสาวกซึ่งอาจกล่าวได้ว่ารู้จักพระองค์มากกว่าผู้ใดดังนี้ เราเป็นทางนั้นเป็นความจริงและเป็นชีวิตไม่มีผู้ใดมาถึงพระบิดาได้นอกจากจะมาทางเรา(ยอห์น 14:6) ด้วยถ้อยคำที่ไม่ต่างไปเลย อัครสาวกเปาโลรับรองฐานะของพระองค์ว่า

 

ด้วยเหตุว่ามีพระเจ้าองค์เดียว และมีคนกลางแต่ผู้เดียวระหว่างพระเจ้ากับมนุษย์ คือพระเยซูคริสต์ผู้ทรงสภาพเป็นมนุษย์ ผู้ทรงประทานพระองค์เองเป็นค่าไถ่สำหรับคนทั้งปวง (1 ทิโมธี 2:5, 6)

 

ยิ่งไปกว่านั้น อัครสาวกเปาโลได้เขียนถ้อยคำเหล่านี้ลงในส่วนหนึ่งของจดหมายถึงทิโมธี โดยกล่าวถึงเรื่องการรวมตัวกันของบรรดาผู้เชื่อในเมืองเอเฟซัส หากท่านประสงค์จะให้มีผู้เชื่อสักกลุ่มที่ทำหน้าที่เป็นตัวแทนของพระเจ้าในท่ามกลางมนุษย์จริง จดหมายนี้คงเป็นโอกาสเหมาะที่ท่านจะแนะนำบรรดาผู้เชื่อให้เข้าใจเช่นที่ท่านประสงค์ แต่แทนที่จะเป็นเช่นนั้น ท่านกลับกล่าวอย่างชัดเจนว่า มีแต่พระเยซูเท่านั้นที่จะกระทำหน้าที่ดังกล่าวได้

 

ในปัจจุบันมีหลายคริสตจักรอ้างว่ามีแต่บาทหลวงที่ได้รับการเจิมแต่งตั้งแล้วเท่านั้นจึงจะสามารถอวยพรและแจกจ่ายขนมปังและเหล้าองุ่นได้ และมีแต่ท่านบิชอปเท่านั้นที่จะสามารถเจิมแต่งตั้งบาทหลวงได้ พระคริสตธรรมภาคพันธสัญญาใหม่บันทึกไว้อย่างชัดเจนถึงเหตุการณ์การแจกจ่ายขนมปังและเหล้าองุ่นที่จัดขึ้นเป็นครั้งแรกโดยอัครสาวกทั้งหลายและพระเยซูเองก็ทรงร่วมอยู่ในเหตุการณ์นั้นด้วย รวมทั้งได้บันทึกถึงหน้าที่ที่อัครสาวกได้แนะนำให้ผู้เชื่อกระทำเพื่อให้บรรลุจุดประสงค์นี้  แต่ไม่มีตอนใดในพระธรรมนี้ที่ระบุไว้ว่าผู้ที่ทำหน้าที่แบ่งขนมปังและเหล้าองุ่นในพิธีรำลึกนี้จะต้องได้รับการเจิมแต่งตั้งมาเป็นพิเศษ อันที่จริงแล้วไม่มีการกล่าวถึงบุคคลเช่นนั้นเลย จะมีก็แต่คำสั่งที่สั่งไว้ให้ผู้เชื่อปฏิบัติตาม ว่าดังนี้ เพราะว่าเมื่อท่านทั้งหลายกินขนมปังนี้และดื่มจากถ้วยนี้เวลาใดท่านก็ประกาศการวายพระชนม์ขององค์พระผู้เป็นเจ้าจนกว่าพระองค์จะเสด็จมา(1โครินธ์11:26)       

 

ขอให้สังเกตว่าคำสั่งนี้ได้มอบความรับผิดชอบแก่ผู้เชื่อทุกคนไว้ด้วย กล่าวคือ ไม่ว่าพวกเขาจะอยู่ตามลำพังหรือมาอยู่รวมกันหลายๆคนก็ตาม พวกเขาจะต้องหักขนมปังและดื่มเหล้าองุ่นเพื่อระลึกถึงการสิ้นพระชนม์ของพระเยซู ในขณะเดียวกัน กลับไม่มีบันทึกคำสอนในพระคัมภีร์ที่กล่าวถึงแบบแผนบางอย่างที่ปรากฏอยู่ในปัจจุบัน เช่น การที่คริสตจักรบางแห่งจำกัดสิทธิในการดื่มเหล้าองุ่นไว้ให้นักบวชเท่านั้น 

 

การก่อตั้งคริสตจักรในยุคแรก

เมื่อได้เห็นว่าหน้าที่ของนักบวชชาวยิวได้ถูกแทนที่โดยพันธกิจของพระคริสต์ เราควรต้องหันไปพิจารณาว่ากลุ่มผู้เชื่อในสมัยแรกนั้นได้รวมตัวกันอย่างไรบ้าง เหล่าอัครสาวกได้สั่งให้มีการออกบวชตามแบบอย่างที่พระคริสต์ทรงวางรากฐานไว้หรือ  พวกเขาสั่งให้มีการสร้างอาคารอันวิจิตรงดงาม ตกแต่งด้วยงานศิลปะอันล้ำค่า และต้องมีเสื้อผ้าอย่างพิเศษรวมทั้งบทสวดพิเศษเพื่อให้การนมัสการเป็นที่ยอมรับเช่นนั้นหรือ ผู้เชื่อจำต้องประกอบพิธีพิเศษบางอย่างเช่นนั้นหรือ

บันทึกในพระคริสตธรรมคัมภีร์ภาคพันธสัญญาใหม่ที่เกี่ยวกับคริสตจักรในยุคแรกแสดงให้เห็นว่าคนเหล่านี้ได้รวมตัวกันเป็นชุมชนที่กระตือรือร้น มีชีวิตชีวาและเติบโตอย่างรวดเร็ว แม้ว่าเหล่าผู้เชื่อจะกระทำหน้าที่ที่แตกต่างกันไป แต่กลับไม่มีความแตกต่างในแง่ของสถานะของพวกเขา กล่าวคือ

 

เพราะว่าในร่างกายอันเดียวนั้นเรามีอวัยวะหลายอย่างและอวัยวะนั้นๆมิได้มีหน้าที่เหมือนกันฉันใด พวกเราผู้เป็นหลายคนยังเป็นกายอันเดียวในพระคริสต์ และเป็นอวัยวะแก่กันและกันฉันนั้น (โรม 12:4, 5)

 

ผ่านพระธรรมทั้งหลายที่ได้รับการเขียนขึ้นในช่วงเวลาที่น่าตื่นตาตื่นใจนั้น ในขณะที่ข่าวประเสริฐของพระคริสต์กำลังเดินทางผ่านโลกในแถบเมดิเตอร์เรเนียนด้วยระบบการสื่อสารที่สร้างขึ้นโดยจักรวรรดิโรมันนั้นเอง ก็เกิดความกังวลขึ้นว่าไม่มีผู้ใดหรือกลุ่มใดควรที่จะมาปกครองเหล่าผู้เชื่อ หากจะแนะนำให้เป็นอย่างอื่น ก็เท่ากับเป็นการนำพระเจ้าของพวกเขาลงจากบัลลังก์ เพราะว่า

 

พระคริสต์ทรงเป็นศีรษะของคริสตจักร ซึ่งเป็นพระกายของพระองค์และพระองค์ทรงเป็นพระผู้ช่วยให้รอดของคริสตจักร (เอเฟซัส 5:23)    

 

การรับใช้คือสิ่งสำคัญ

พระคำของพระเยซูที่ตรัสกับบรรดาผู้ติดตามพระองค์ควรจะเป็นเครื่องชี้นำในกรณีเหล่านี้ พระองค์ทรงสอนบรรดาอัครสาวกของพระองค์ให้เป็นผู้รับใช้ และจะไม่มีการกระทำให้เกิดความแตกต่างใดๆในแง่ของฐานะทางสังคม พระองค์ทรงเป็นแบบอย่างเรื่องการรับใช้แก่สาวกเมื่อทรงล้างเท้าให้พวกเขาในครั้งนั้น การล้างเท้าให้ผู้อื่นนั้นถือเป็นงานชั้นต่ำของทาสที่ได้ชื่อว่าต่ำต้อยที่สุด เพราะว่าเราได้วางแบบแก่ท่านแล้วเพื่อให้ท่านทำเหมือนดังที่เราได้กระทำแก่ท่านด้วย (ยอห์น 13:15) พระองค์ยังทรงเตือนเหล่าผู้ที่ติดตามพระองค์เกี่ยวกับอันตรายของการเลือกปฎิบัติต่อชายและหญิงบางคนด้วย พวกเขาเองก็ได้เห็นอย่างที่พระองค์ทรงเห็น ว่าบรรดาผู้นำชาวยิวได้คดโกงเอาเงินทองเข้าตัวเองอย่างไรบ้างในสมัยนั้น พระเยซูทรงเตือนสติผู้ติดตามพระองค์ไม่ให้ตกหลุมพรางแห่งความเห็นแก่ตัวและพวกพ้องเช่นเดียวกับผู้นำเหล่านั้น

 

ท่านทั้งหลายอย่าให้ใครเรียกท่านว่า'ท่านอาจารย์' ด้วยท่านมีพระอาจารย์แต่ผู้เดียวและท่านทั้งหลายเป็นพี่น้องกันทั้งหมด  และอย่าเรียกผู้ใดในโลกว่าเป็นบิดาเพราะท่านมีพระบิดาแต่ผู้เดียวคือผู้ที่ทรงสถิตในสวรรค์ อย่าให้ผู้ใดเรียกท่านว่า'พระครู' ด้วยว่าพระครูของท่านมีแต่ผู้เดียวคือพระคริสต์ (มัทธิว 23:8-10)

 

ส่วนคำสอนของพระเยซูนั้นแตกต่างไป พระองค์ทรงสนับสนุนเรื่องความเป็นครอบครัว และตรัสถึงความจำเป็นที่ว่าเด็กๆต้องเชื่อฟังสิ่งที่บิดามารดาสอน ฉะนั้นในกรณีนี้พระองค์กำลังตรัสถึงองค์กรทางศาสนาของพวกเขาว่าต้องลักษณะเป็นแบบอิงภารดรภาพ คือ อยู่ร่วมกันฉันท์พี่น้อง  พระคำของพระองค์ที่เกี่ยวกับบิดามีความเกี่ยวโยงกับความนิยมในการเรียกผู้นำทางศาสนาว่า คุณพ่อ ซึ่งแสดงให้เห็นว่าเป็นความนิยมที่ผิดแปลกเพียงใดเมื่อเทียบกับอุดมคติของพระคริสต์ในเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างผู้เชื่อทั้งหลาย การกระทำเช่นนั้นทั้งๆที่ทราบว่าไม่ตรงกับคำสอนของพระเยซู ก็ถือว่าเป็นการดูแคลนความยิ่งใหญ่ของพระเจ้าเช่นกัน

 

ครอบครัวของบรรดาผู้เชื่อ

แนวคิดเรื่องครอบครัวนั้นนับว่าเป็นประโยชน์อย่างมากต่อการทำความเข้าใจว่าผู้เชื่อในสมัยแรกรวมตัวกันอย่างไรตามที่พระเยซูและบรรดาอัครสาวกได้แนะนำ พระเจ้าทรงเป็นบิดาของพวกเขา และพระเยซูคริสต์ทรงเป็นพระผู้ช่วยให้รอดของพวกเขา ซึ่งเป็นผู้นำของชุมชน แต่เช่นเดียวกับครอบครัวทั่วไปที่ต้องมีสมาชิกทั้งอ่อนวัยและสูงวัย ซึ่งผู้ที่มีประสบการณ์มากกว่าจะรับผิดชอบงานต่างๆในแต่ละวันมากกว่า ในการรวมตัวกันของคริสเตียนยุคแรกเองก็มีสมาชิกทั้งที่สูงวัยและอ่อนวัย งานบางอย่างจึงถูกมอบให้ผู้อาวุโส แต่พวกเขาจะไม่ตั้งตัวเป็นผู้มีอำนาจเหนือคนอื่นๆที่มารวมตัวกันนั้น พวกเขาต้อง จงตักเตือน...คนหนุ่มๆทั้งหลายเป็นเสมือนพี่หรือน้อง...และส่วนหญิงสาวๆก็ให้เป็นเสมือนพี่สาวน้องสาว ด้วยความบริสุทธิ์ทั้งหมด(1ทิโมธี 5:1, 2)

 

ถูกต้องแล้ว ในการรวมกลุ่มกันนั้นจะมีงานและความรับผิดชอบที่แตกต่างกันไปด้วยแล้วแต่กรณี แต่การรวมกลุ่มกันในยุคแรกนั้นไม่ได้ให้ความสำคัญใดๆกับการแบ่งแยกระหว่างนักบวชกับฆราวาส ซึ่งเป็นเรื่องปกติในคริสตจักรสมัยนี้ การคัดสรรค์ผู้อาวุโส (หรือที่เรียกว่าผู้ปกครอง) มาดูแลกลุ่มแต่ละกลุ่มนั้นเป็นความรับผิดชอบของสมาชิกทั้งหลายในที่นั้น เปาโลเขียนถึงทิตัสซึ่งยังอยู่ในเกาะครีตโดยกำชับเขาให้ ตั้งผู้ปกครองไว้ทุกเมืองที่ข้าพเจ้ากำชับท่าน  (ทิตัส 1:5) เปาโลสามารถให้รายชื่อของคนที่เหมาะสมที่จะเป็นผู้ปกครองได้ แต่สิ่งนั้นจะไม่ก่อให้เกิดประโยชน์แก่ผู้เชื่อในเรื่องใดๆหรือแม้แต่ในอนาคตกาล ดังนั้นงานนี้จึงต้องตกเป็นงานของสมาชิกในกลุ่มนั้นๆจะเป็นผู้เลือกเอง   เปาโลกระทำแต่เพียงให้คุณสมบัติของผู้ที่จะมาเป็นผู้ปกครองไว้เป็นเกณฑ์ในการเลือกสรรค์เท่านั้น

คือตั้งคนที่ไม่มีข้อตำหนิ เป็นสามีของหญิงคนเดียว บุตรของเขามีความเชื่อและไม่มีช่องทางให้ผู้ใดกล่าวหาว่าบุตรนั้นเป็นนักเลงหรือเป็นคนดื้อกระด้าง (ข้อ 6)  

 

ผู้ปกครอง ผู้ดูแล และมัคนายก

บางครั้งผู้อาวุโสเหล่านี้มักจะถูกเรียกว่า ผู้ดูแล หรือ bishops (หมายถึง คนเลี้ยงแกะหรือผู้ดูแล) โดยมีหน้าที่รับผิดชอบต่อพี่น้องผู้เชื่ออย่างที่เราได้ทราบมาแล้วข้างต้น บทบาทของผู้ดูแลสามารถเทียบเคียงได้กับงานของคนเลี้ยงแกะ เขาไม่ได้อยู่ในฐานะเดียวกับพระเยซูในชุมชนดังกล่าว แต่เขาต้องแสดงความเป็นห่วงเป็นใยแก่ ฝูงแกะ ซึ่งเขาเองก็เป็นส่วนหนึ่งของฝูงนั้นด้วย

 

งานอื่นๆ รวมถึงงานรับใช้ จะถูกมอบหมายให้แก่ชายและหญิงผู้ซึ่งมีคุณสมบัติที่จะกระทำงานนั้นให้สำเร็จไปได้ ขณะที่ความรับผิดชอบของผู้อาวุโสจะมุ่งเน้นไปทางความจำเป็นทางจิตวิญญาณของเหล่าผู้เชื่อ ส่วน มัคนายก จะดูแลเรื่องที่เกี่ยวข้องกับความจำเป็นทางร่างกายเป็นหลัก ในพระธรรมภาคพันธสัญญาใหม่มีแต่พระเยซูเท่านั้นที่ได้รับการขนานนามว่าเป็นนักบวช ส่วนงานต่างๆของผู้ปกครอง ผู้ดูแลและมัคนายกไม่ได้แสดงว่าเป็นงานของนักบวชแต่อย่างใด ชื่อส่วนงานต่างๆที่มีอยู่ในคริสตจักรก็มิใช่คำศัพท์ที่มีบันทึกอยู่ในพระคัมภีร์เช่นกัน ทุกส่วนล้วนถูกคิดขึ้นใหม่โดยคนเราทั้งสิ้น

 

ไม่มีที่ใดในพระคัมภีร์ที่อัครสาวกได้กล่าวถึงอาคารแบบที่เหล่าผู้เชื่อควรจะมาพบกัน จริงๆแล้วมีอยู่ครั้งหนึ่งด้วยซ้ำที่อัครสาวกเปาโลได้เข้าร่วมในการนมัสการกับกลุ่มผู้เชื่อซึ่งมาพบกันที่ริมแม่น้ำ ทุกสิ่งที่ท่านจะกล่าวถึงผู้เชื่อกลุ่มนี้ รวมถึงกลุ่มอื่นๆซึ่งใกล้เคียงกันนี้ช่วยให้เราเข้าใจสิ่งที่พวกเขาปฏิบัติมากขึ้น แม้แต่เสื้อผ้าแบบพิเศษใดๆก็ไม่เคยถูกกล่าวถึง ครั้งเดียวที่มีการกล่าวถึงแนวทางการแต่งกายของผู้ที่มานมัสการก็คือครั้งที่กล่าวถึงเรื่องการสวมใส่เสื่อผ้าที่มีสีสันฉูดฉาดบาดตาหรือใช้วัสดุที่มีราคาแพงว่าเป็นสิ่งที่ควรหลีกเลี่ยง (ดังตัวอย่างใน1 เปโตร 3:3, 4)

 

ความแตกต่างอีกประการหนึ่งระหว่างนักบวชและฆราวาสในหลายๆคริสตจักรที่พบได้ในปัจจุบันก็คือนักบวชจะได้รับเบี้ยเลี้ยงชีพสำหรับงานที่ทำ ในศตวรรษแรก ผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับงานด้านจิตวิญญาณของชุมชนสามารถรับความช่วยเหลือทางด้านวัตถุหรือเงินทองได้ อัครสาวกเปาโลได้เขียนถึงชาวโครินธ์เกี่ยวกับเรื่องนี้ไว้ด้วย ท่านกล่าวว่า เราไม่มีสิทธิ์ที่จะกินและดื่มหรือพระผู้เป็นเจ้าได้ทรงบัญชาไว้ว่าคนที่ประกาศข่าวประเสริฐควรได้รับการเลี้ยงชีพด้วยข่าวประเสริฐนั้น (1 โครินธ์ 9:4-14) แม้กระนั้น เปาโลก็ตระหนักดีถึงความเป็นไปได้ที่อาจเกิดการทุจริตขึ้นในชุมชนเพราะผลประโยชน์ที่มาจากการเจือจานของผู้คนเป็นเหตุ ท่านจึงประกาศตัวว่า แต่ข้าพเจ้าไม่ได้ใช้สิทธิ์เหล่านี้ข้าพเจ้าได้ประกาศโดยไม่คิดค่าจ้างเพื่อจะไม่ได้ใช้สิทธิ์ในข่าวประเสริฐนั้นอย่างเต็มที่ข้าพเจ้าทำอย่างนี้เพราะเห็นแก่ข่าวประเสริฐเพื่อข้าพเจ้าจะได้มีส่วนในข่าวประเสริฐนั้น (ข้อ 15-23)

 

ประวัติศาสตร์คริสตจักร การจ่ายเงินให้นักบวชกระทำให้ความกังวลของเปาโลกลับกลายเป็นจริงขึ้นมา  ในสมัยกลาง ศาสนจักรคาทอลิกต้องเผชิญกับการทุจริตอย่างรุนแรงและนักบวชหลายรายมีฐานะมั่งคั่งร่ำรวยและมีอิทธิพลมหาศาลเมื่อเทียบกับสมาชิกอื่นๆในชุมชนของพวกเขา ปัญหานี้ยังคงปรากฏให้เห็นอยู่ในปัจจุบันด้วยเช่นกัน เรื่องราวฉาวโฉ่ซึ่งเกี่ยวข้องกับการเงินของคริสตจักรมีให้เห็นอยู่เป็นประจำ การหันหน้ากลับสู่หลักการในพระธรรมภาคพันธสัญญาใหม่ที่ว่าด้วยเรื่องของ สิทธิ์ที่จะกินและดื่ม สำหรับผู้ที่ ประกาศข่าวประเสริฐ น่าจะช่วยป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาที่กล่าวถึงข้างต้นได้

 

งานของบรรดาอัครสาวก

เราต้องระลึกไว้ว่าการเตรียมการต่างๆในคริสตจักรแต่ละแห่งเพื่อคัดสรรผู้ที่จะมาสั่งสอน (อาทิ ผู้รับใช้)จากสมาชิกในชุมชนของตนนั้นเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นในช่วงที่บรรดาอัครสาวกของพระเยซูยังคงทำงานกันอย่างขยันขันแข็งในคริสตจักรที่เพิ่งจะได้รับการสถาปนาขึ้น เนื่องด้วยในสมัยนั้นยังไม่มีแหล่งรวมพันธกิจและคำสอนต่างๆของพระคริสต์ซึ่งคงความน่าเชื่อถือเท่าปัจจุบัน (เพราะบรรดาหนังสือพระกิตติคุณทั้งหลายยังไม่ได้ถูกรวมเข้าเป็นเล่มเดียวกันจนกระทั่งตอนปลายของศตวรรษที่ 1 หลังการประสูติของพระเยซู) บรรดาอัครสาวกอาศัยเพียงการเรียนรู้จากชีวิตของพระคริสต์ ความตายและการเป็นขึ้นของพระองค์เท่านั้นที่ได้กลายมาเป็นประสบการณ์ของพวกท่าน แต่พระเจ้าได้ทรงเทฤทธานุภาพของพระองค์ลงบนตัวพวกท่านเหล่านั้น นั่นคือ พระวิญญาณบริสุทธิ์ สิ่งนี้เองคือสิ่งที่ทำให้พวกท่านสามารถระลึกถึงทุกสิ่งที่พระเยซูได้ทรงกระทำและทรงสั่งสอนพวกท่านไว้ และโดยอาศัยพระวิญญาณบริสุทธิ์นี้เอง พวกท่านจึงสามารถกระทำการอัศจรรย์มากมาย อันเป็นเครื่องมือที่ช่วยให้ผู้คนเห็นว่าสิ่งที่ท่านสอนนั้นเป็นจริงทุกประการ เช่นเดียวกับที่พระเยซูได้ทรงกระทำ

 

ทันทีที่พระคัมภีร์ภาคพันธสัญญาใหม่ได้รับการรวบรวมเข้าจนครบ ประกอบกับพระคัมภีร์ภาคพันธสัญญาเดิม  เราจึงมีหนังสือเล่มหนึ่งซึ่งบรรจุความรู้ทั้งมวลเกี่ยวกับการช่วยให้รอดของพระเจ้าซึ่งพระองค์ทรงประทานให้เราเป็นของขวัญ

 

พระคัมภีร์อันศักดิ์สิทธิ์...ซึ่งสามารถสอนท่านให้ถึงความรอดได้โดยความเชื่อในพระเยซูคริสต์ (2ทิโมธี 3:15)   

 

ผู้เชื่อแต่ละคนจะต้องรับผิดชอบต่อพระเจ้าสำหรับท่าทีที่เขาตอบสนองต่อพระคำของพระองค์ ดังเช่นที่พระธรรมสดุดีว่าไว้ แน่ทีเดียวไม่มีคนใดไถ่พี่น้องของตนได้หรือถวายค่าชีวิตของเขาแด่พระเจ้า (49:7) ผ่านพระคำของพระเจ้า เราเรียนรู้ถึงของขวัญแห่งการทรงไถ่ของพระองค์ คนอื่นอาจช่วยให้เรามีความเข้าใจเกี่ยวกับพระเจ้ามากขึ้น แต่เมื่อเราซาบซึ้งถึงพันธกิจแห่งการช่วยให้รอดของพระคริสต์และรู้ว่าเหตุใดการตอบสนองต่อการทรงเรียกด้วยความยินดีจึงเป็นสิ่งที่ควรกระทำ ก็เท่ากับว่าเราได้ยืนอยู่ต่อหน้าพระพักตร์พระเจ้าแล้ว เพราะคนกลางหนึ่งเดียวของพระองค์มิใช่คนอื่นไกล หากแต่เป็นพระเยซูคริสตเจ้านั่นเอง

 

การสืบต่อความเชื่อโดยอัครสาวก

ยังเป็นที่ถกเถียงกันอยู่ เพราะเหล่าอัครสาวกเป็นผู้นำคริสตจักรในขณะนั้น พวกท่านกระทำการต่างๆแทนพระคริสต์ตามขอบเขตแห่งประสบการณ์ในพระคริสต์ของพวกท่านจะอำนวย  นอกจากนี้พวกท่านยังเทศนาสั่งสอนพระคำของพระเจ้าอย่างเดียวกับที่พระเยซูทรงสั่งสอนพวกท่านมา เหล่านี้เป็นความจริง  แต่สำหรับเหล่าอัครสาวกแล้ว แม้พวกท่านจะได้รับฤทธิ์เดชแห่งพระวิญญาณบริสุทธิ์ให้กระทำการอัศจรรย์ต่างๆได้ แต่กลับไม่เคยแสดงตนเป็นคนกลางให้มนุษย์ออย่างที่นักบวชในสมัยนี้อ้างตัวว่าเป็น เราได้เห็นแล้วว่าการที่พวกท่านได้รับฤทธานุภาพของพระวิญญาณบริสุทธิ์ก็เพราะพระเจ้าทรงพระประสงค์ที่จะรับรองว่าบรรดาสิ่งที่พวกท่านได้เชื่อนั้นเป็นความจริงที่เชื่อถือได้ ซึ่งอำนาจเช่นนั้นไม่จำเป็นอีกต่อไปเมื่อพระคัมภีร์ได้รับการรวบรวมเข้าจนครบเล่ม เช่นเดียวกันการหาทายาทมาสืบทอดบทบาทของบรรดาอัครสาวกให้คงอยู่ก็ไม่ใช่สิ่งที่จำเป็นอีกต่อไป จะเห็นได้ว่าไม่มีข้อความตอนใดในพระคัมภีร์ที่กล่าวถึงการสืบทอดตำแหน่งของอัครสาวกสู่คนรุ่นถัดมา

 

บางครั้งมีการอ้างเอาว่า การฝึกฝน การวางมือ ช่วยให้เราได้ผู้ที่เหมาะสมจะมาเป็นผู้สืบทอดของเหล่าอัครสาวก แต่คำข้างต้นนั้นมีความหมายหลายประการ และมีความหมายบางประการที่ไม่เกี่ยวข้องกับแนวคิดเรื่องการสืบทอดตำแหน่งอัครสาวก เช่น เป็นการแสดงถึงของประทานจากพระเจ้า หรือเป็นการให้พรแก่ผู้อื่น

 

เมื่อโมเสสได้รับคำสั่งมาโดยตรงให้แต่งตั้งโยชูวาขึ้นเป็นผู้นำแทนท่าน พระเจ้าตรัสว่า จงเอามือของเจ้าวางบนเขา...เจ้าจงกำชับเขาต่อหน้าชุมนุมชน (กันดารวิถี 27:18,19)  ประวัติศาสตร์ของชาตินี้แสดงให้เห็นในไม่ช้าว่าประชาชนได้มองโยชูวาดังเช่นที่พวกเขาเคยมองโมเสส       หากการวางมือในพระธรรมภาคพันธสัญญาใหม่มีความหมายพิเศษเพียงประการเดียว เราคงจะได้เห็นอัครสาวกทั้งหลายวางมือลงบนผู้ที่พวกท่านเห็นควรให้มาเป็นอัครสาวกแทนหลังจากที่พวกท่านสิ้นชีวิตลง แต่ในความเป็นจริงนั้น อัครสาวกยากอบได้สิ้นชีวิตลงไม่นานหลังจากที่พระเยซูเสด็จขึ้นสู่สวรรค์ (กิจการ 12:2) และไม่มีการกล่าวถึงการหาผู้ใดมาแทนที่ท่าน เราได้ทราบแล้วว่าการเลือกสรรค์และการแต่งตั้งผู้ปกครองจะเป็นไปโดยอาศัยการยอมรับและความเห็นชอบจากที่ประชุมของคริสตจักรนั้นๆ มิใช่จากความ   เห็นของอัครสาวก

 

ภายหลังยุคอัครสาวก   

 หลักฐานจากคริสตจักรสมัยแรกบ่งชี้ว่ามีการแบ่งแยกพวกผู้ดูแลออกจากผู้ปกครองในช่วงประมาณตอนกลางของศตวรรษที่สองหลังการประสูติของพระเยซูเจ้า บรรดาผู้ดูแลได้รับการยกฐานะขึ้นเป็นผู้ปกครองหรือเจ้านายมากกว่าที่จะเป็นผู้รับใช้ ในเวลาไล่ๆกันนั้นเองมีหลักฐานของการปรากฏตัวของรูปแบบของนักบวชอีกรูปแบบหนึ่งที่ต่างไป ซึ่งรับเอาลักษณะบางประการของนักบวชชาวยิวมา พิธีกรรมที่ยิ่งใหญ่ตระการตาซึ่งได้รับการพัฒนาขึ้นนั้นมีความเกี่ยวข้องกับพิธีการทางศาสนาและการบวชของบาทหลวงในศาสนจักร ในไม่ช้าก็เกิดมีอาคารแบบพิเศษ เสื้อผ้าแบบพิเศษและศัพท์เฉพาะเพื่อแสดงลักษณะทางศาสนาออกมาให้ประจักษ์ชัดยิ่งขึ้นเช่นในปัจจุบัน  แม้ว่าจะขัดกับหลักคำสอนในพระคัมภีร์ ปรากฏการณ์นี้ก็ไม่ถือว่าผิดคาดเท่าใดนัก เพราะแม้แต่ในสมัยที่เหล่าอัครสาวกยังคงทำงานกันอย่างแข็งขัน ก็ได้ปรากฏว่ามีการต่อต้านธรรมเนียมปฏิบัติของชาวยิวและของพวกที่นับถือผีที่พยายามจะแทรกซึมเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของชุมชนคริสเตียนซึ่งเพิ่งจะเริ่มต้นอยู่เนืองๆ

 

พระเยซูและเหล่าอัครสาวกได้เตือนเราถึงการปรากฏตัวของ ผู้ที่สั่งสอนผิดๆ” “ผู้ทำนายเทียมเท็จและแม้แต่ ผู้ที่อ้างตัวว่าเป็นพระคริสต์ผู้ซึ้งจะหลอกลวงคนมากมายและพาสาวกมากมายให้หลงทางไป (มัทธิว 24:4,5,11,24)เปาโลกล่าวไว้ว่าผู้ที่สั่งสอนผิดๆจะปรากฏขึ้นมาจากภายในคริสตจักรเอง (กิจการ 20: 28-30) จนกระทั่งสิ้นศตวรรษที่หนึ่ง อัครสาวกยอห์นบันทึกไว้ว่า ตามที่ท่านทั้งหลายได้ยินได้ฟังมาว่าปฏิปักษ์ของพระคริสต์จะมีมา บัดนี้ปฏิปักษ์ของพระคริสต์ก็มีมามากแล้ว (1ยอห์น 2:18) คำว่า ปฏิปักษ์ของพระคริสต์ มิได้หมายถึงแต่บรรดาผู้ที่ต่อต้านคำสอนของพระคริสต์เท่านั้น แต่ยังรวมถึงบรรดาผู้ที่อ้างว่าเป็นตัวแทนของพระองค์ แต่กระนั้นคำสอนและการปฏิบัติตัวของพวกเขากลับเป็นปฏิปักษ์กับพระองค์อย่างแท้จริง

 

คำเตือนเหล่านี้ยังคงความสำคัญแม้ในทุกวันนี้ เพียงแค่เราย้อนมองกลับไปในประวัติศาสตร์ของคริสตจักร เราก็จะเห็นได้ว่าความเชื่ออันบริสุทธิ์และการปฏิบัติตัวอย่างง่ายๆของอัครสาวกและบรรดาผู้เชื่อทั้งหลายได้เสื่อมทรามลง หนทางเดียวที่จะช่วยให้มั่นใจได้ว่าเรากำลังเดินมาถูกทางก็คือการลองสำรวจความเชื่อและการปฏิบัติสมัยใหม่โดยอาศัยคำสอนในพระคัมภีร์เป็นเกณฑ์ในการพิจารณา

 

เครื่องบูชาอันมีชีวิต  

เมื่อได้เรียนรู้ว่าผู้เชื่อในปัจจุบันไม่มีบทบาทหน้าที่อย่างนักบวชในสมัยก่อน คือ ต้องคอยช่วยวิงวอนและถวายเครื่องบูชาในนามของผู้อื่น เรามีแต่พระเยซูคริสตเจ้าผู้เดียวเท่านั้นที่เป็นนักบวชในคริสตจักรของพระองค์ อย่างไรก็ตาม ยังมีแง่มุมบางประการที่เคยเป็นส่วนหนึ่งของบทบาทหน้าที่ของนักบวช ซึ่งผู้เชื่อในปัจจุบันต้องกระทำให้สำเร็จไปด้วยตัวของเขาเอง อย่างเช่นที่ เผ่าเลวี ได้ถูก พรากออก จากชาวอิสราเอลที่เหลือ เพื่อมารับใช้พระเจ้าภายใต้กฏหมายของโมเสส ดังนั้นผู้เชื่อในพระคริสต์จะต้องถูก พรากออก จากโลก เพื่อจะได้เป็นกลุ่มผู้ที่ถูกเลือกสรรไว้ให้มาถวายสรรเสริญแด่พระเจ้า

 

เหตุฉะนั้นให้เราถวายคำสรรเสริญเป็นเครื่องบูชาแด่พระเจ้าตลอดไปโดยทางพระองค์นั้นคือคำกล่าวยอมรับเชื่อพระนามของพระองค์ (ฮีบรู 13:15)

 

ถวายตัวของท่านแด่พระองค์เพื่อเป็นเครื่องบูชาที่มีชีวิตอันบริสุทธิ์และเป็นที่พอพระทัยพระเจ้า ซึ่งเป็นการนมัสการโดยวิญญาณจิตของท่านทั้งหลาย (โรม 12:1)

 

ข้อความเหล่านี้สอนเราให้รู้ว่าไม่มีเส้นแบ่งระหว่างสิ่งที่ บริสุทธิ์ และสิ่งที่ เป็นฝ่ายโลก เพราะชีวิตคริสเตียนทั้งครบนั้นได้อุทิศไว้เพื่อความบริสุทธิ์เท่านั้น   สิ่งที่มีความสำคัญเป็นพิเศษก็คือผู้เชื่อได้รับการสอนให้ แสดงออก ไม่มีนักบวชคนใดจะทำสิ่งนี้แทนพวกเขาได้ ก่อนที่พวกเขาจะหันมาเชื่อพระเจ้า ไม่ว่าพวกเขาจะเป็นพวกที่นับถือผีหรือเป็นชาวยิว หน้าที่การถวายเครื่องบูชาถือเป็นสิทธิพิเศษและความรับผิดชอบของนักบวชเท่านั้น แต่ในปัจจุบันสาวกของพระเยซูจะต้องถวายเครื่องบูชาโดยการปฏิเสธความต้องการของตัวเขาเอง เพื่อเป็นเครื่องหมายแห่งการยอมรับพระเยซูและการเสด็จมาปกครองพระอาณาจักรของพระเจ้าบนโลกนี้ในอนาคต พวกเขายอมละทิ้งสิ่งต่างๆที่เป็นของโลกเพราะเห็นแก่โลกใหม่ที่กำลังจะมาถึงนั้น การยอมสละพระชนม์ของพระเยซูเพียงครั้งเดียวเพื่อประโยชน์แก่คนทั้งปวงที่ประสงค์จะรอดโดยพระนามของพระองค์นั้นถือเป็นเครื่องประกันว่าชีวิตแห่งการรับใช้ในวันนี้จะได้รับการตอบแทนเมื่อพระองค์เสด็จกลับมายังโลกใบนี้อีกครั้ง

 

โดย ไมเคิล แอชตัน